หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๙	สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
[ วัดบวรนิเวศวิหาร ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( คัดลอกจาก www.sangharaja.org )
พระชาติภูมิ
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ประสูติที่ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๑๐ ทุ่ม มีเศษ (หรือเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ นาฬิกาเศษ แห่งวันเสาร์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ตามที่นับแบบปัจจุบัน) พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช ๒๔๖๕) พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร (ถึงแก่กรรม พุทธศักราช ๒๕๐๘)

บรรพชาอุปสมบท
พุทธศักราช ๒๔๖๙ ทรงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม ( วัดเหนือ ) จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ ( พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์ ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆารามเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร ( สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม ( วัดหนองบัว ) เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล

พุทธศักราช ๒๔๗๖ พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจาร (สุวณฺณโชติ เหรียญ รัสสุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัด หรุง นามสกุลเซี่ยงฉี เจ้าอาวาสวัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖ อุปสมบทแล้วทรงจำพรรษา ที่วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้วในศกเดียวกัน ได้ทรงทำทัฬหีกรรม ( ญัตติซ้ำ ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ( สุจิตฺโต หม่อมราชวงศ์ ชื่น นภวงศ์ ป.๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี ( อิสฺสรณญาโณ จู ทีปรักษพันธุ์ ป.๗) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษา
ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม จบชั้นประถม 5 (เทียบชั้นมัธยม 2) หลังจากทรงบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ทรงเรียนพระปริยัติธรรมและทรงสอบไล่ได้ชั้นต่าง ๆ เป็นลำดับมาในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ดังนี้

พุทธศักราช ๒๔๗๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี
พุทธศักราช ๒๔๗๓ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๕ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๘๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พุทธศักราช ๒๔๘๔ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

สมณศักดิ์
พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระโสภนคณาภรณ์
พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชนิทนามเดิม
พุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม
พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์
พุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระศาสนโสสภณ
พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
พุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

คุณค่าในทางวิชาการ
บทพระนิพนธ์ทางพระพุทธศาสนาของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทุกเรื่อง ล้วนทรงคุณค่าในเชิงวิชาการ เพราะการอธิบายคำสอนของพระพุทธศาสนาใน แต่ละ เรื่องแต่ละประเด็นนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงใช้การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างน่าสนใจยิ่ง เช่น ทรงวิเคราะห์คำว่า สัจจะ ธรรม ศาสนา ปัญญา เป็นต้น ทั้งในเชิงพยัญชนะและในเชิงความ หมาย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ละเอียดและกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้ง การวิเคราะห์ในหลาย ๆ เรื่องของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระทรรศนะและมุมมองของ พระองค์ที่แตกต่างไปจากคนอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากการทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่าง ทั่วถึง ลึกซึ้ง ประกอบกับการทรงใช้วิจารณญาณทั้งเชิงปริยัติและเชิง ปฏิบัติตรวจสอบเทียบ เคียงกัน จึงทำให้ธรรมาธิบายของพระองค์มีความแจ่มแจ้ง กะทัดรัด และเข้าใจง่าย

ผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับคำสอนในพระพุทธศาสนาของเจ้าพระคุณ สมเด็จ ฯ ที่ทรงคุณค่าในทางวิชาการ เป็นต้นว่า เรื่องลักษณะพระพุทธศาสนา, สัมมาทิฏฐิ, โสฬสปัญหา, ทศบารมี ทศพิธราชธรรม, ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์เหล่านี้ล้วน แสดงคำสอนชั้นสูงของ พระพุทธศาสนา ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ทรงนำมาอธิบายเชิง วิเคราะห์ เสมือนปอกเปลือกให้เราดูทีละชั้นๆ จากชั้นนอกเข้าไปหาชั้นใน ทำให้เรามองเห็น อรรถหรือความหมายของธรรมที่พระพุทธศาสนา สอนทีละชั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถ สร้างความเข้าใจในธรรมนั้น ๆ ได้ด้วยปัญญาของตนเอง

นอกจากนี้ แนวการวิเคราะห์หรือแนวการอธิบายที่ปรากฏอยู่ในบทพระนิพนธ์เรื่อง ต่าง ๆ ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้น ยังเป็นการให้แนวในการวิเคราะห์ธรรมหรืออธิบายธรรม เพื่อความ เข้าใจง่าย ทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัติด้วย ผู้ที่มีแนวหรือมีหลักในการ วิเคราะห์ธรรม อย่างถูกต้อง ย่อมจะก่อให้เกิดความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ อย่างถูกต้อง หากตรงกันข้าม ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนาผิด พลาดหรือไขว้เขว ฉะนั้น แนวหรือหลัก ในการวิเคราะห์ธรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญในวิชาการ ทางพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง

คุณค่าด้านการศึกษา
ผลงานอันดับแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ที่นับว่าทรงคุณค่า ในด้านการศึกษา ก็คือผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เป็น จำนวนมาก พระนิพนธ์เหล่านี้ให้ความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งภาคปริยัติ (ภาคทฤษฎี) และภาคปฏิบัติ และให้ความรู้เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับต้น ๆ จนถึงคำสอนชั้นสูง กล่าวคือ

พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาอย่างง่าย เหมาะแก่เยาวชนหรือผู้เริ่มศึกษา พระพุทธศาสนาทั่วไป ก็เช่นเรื่อง หลักพระพุทธศาสนา เป็นการอธิบายพระพุทธศาสนา ประยุกต์กับชีวิตประจำวัน ประยุกต์กับเหตุการณ์และความรู้สมัยใหม่ ซึ่งง่ายต่อการทำ ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง

พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาในระดับปานกลาง เหมาะแก่ผู้ใฝ่ศึกษาหรือประสงค์แสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เช่นเรื่อง ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า เรื่องลักษณะพระพุทธศาสนา เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องคำสอนทั่วไปของพระพุทธศาสนาเป็นการอธิบายพระพุทธศาสนาในเชิงวิชาการ คือแสดงความเป็นเหตุเป็นผล (หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า เหตุผล) แสดงความสัมพันธ์โยงใยกันระหว่างองค์ธรรม เป็นต้น

พระนิพนธ์ที่อธิบายพระพุทธศาสนาในระดับสูง เหมาะแก่ผู้ต้องการศึกษาคำสอนขั้นสูง ของพระพุทธศาสนา ต้องการความรู้ความเข้าใจในคำสอนของ พระพุทธศาสนาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนยิ่งขึ้น ก็เช่นเรื่อง สัมมาทิฏฐิโสฬสปัญหา เป็นต้น ซึ่งเป็นการอธิบายคำสอนขั้นสูง ของพระพุทธศาสนาในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ ตามแนวของหลักฐานในพระคัมภีร์ประกอบ กับการพิจารณาไตร่ตรองด้วยพระปรีชาส่วนพระองค์ ในลักษณะที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “ธัมมวิจยะ” หรือการวิจัยธรรม ผู้ที่อ่านหรือศึกษาพระนิพนธ์ประเภทนี้ จะต้องอ่านด้วยความไตร่ตรอง จึงจะได้รับอรรถรสของธรรมที่ทรงนำมาอธิบายนั้น

พระนิพนธ์อีกลักษณะหนึ่งที่นับว่ามีคุณค่าในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ก็คือพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติ หรือว่าเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ได้แก่เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้นิพนธ์ไว้จำนวนมากเช่นกัน การอธิบายธรรมภาคปฏิบัติหรือการอธิบายเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น นับว่ายาก ยิ่งเป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง ก็ยิ่งยากแก่การอธิบาย ฉะนั้น ผู้ที่จะสามารถอธิบายธรรมภาคปฏิบัติได้ดีจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรือมีประสบการณ์ในธรรมมาด้วยตนเอง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นทั้งนักปริยัติ (คือสำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค) และทรงเป็นทั้งนักปฏิบัติ (คือทรงปฏิบัติสมาธิกรรมฐานต่อเนื่องมาโดยตลอด) จึงทรงสามารถอธิบายธรรมภาคปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ทรงนำความรู้เชิงปริยัติและกระสบการณ์ทางปฏิบัติมาประยุกต์อธิบายให้ผู้อ่าน/ผู้ฟังเข้าใจในธรรมปฏิบัติเรื่องนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น พระนิพนธ์ประเภทนี้ก็เช่นเรื่อง แนวปฏิบัติในสติปัฎฐาน การปฏิบัติทางจิต ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต เป็นต้น พระนิพนธ์เหล่านี้จึงนับว่าทรงคุณค่าสำหรับการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ได้ให้หลักในการศึกษาพระพุทธศาสนา ภาคปฏิบัติไว้ว่า “อธิบายทั้งปวงก็เพื่อนำธรรมเข้าสู่จิตและปัญญา ได้ฟังได้อ่านแล้วก็ให้ทิ้ง ๆ ไปเสีย กำหนดไว้แต่ตัวธรรมแท้ ๆ จะไม่มีหนักสมอง ตัวธรรมนี้อยู่ในความเข้าใจความจริง อาจอธิบายไม่ได้เพราะไม่มีภาษาจะอธิบาย”

ผลงานด้านพระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งในด้านการศึกษา พระพุทธศาสนา ทั้งในด้านปริยัติและในด้านปฏิบัติ

ผลงานของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาของคณะสงฆ์ นั่นคือ พระดำริเกี่ยวกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของคณะสงฆ์ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่เดิมมา คณะสงฆ์โดยส่วนรวมยังมีท่าทีต่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งในทางลบ เพราะเห็นว่าเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนวิชาการทางโลกมากเกินไป ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ ฉะนั้น มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง จึงไม่ได้รับการรับรองและไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการตลอดมา เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งไม่อาจจะพัฒนาตนเองให้รุดหน้าไปได้ทั้งในทางวิชาการ และในทางบริหาร แต่ด้วยพระดำริและแรงผลักดันของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น จึงทำให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้รับการรับรองเป็น “การศึกษาของคณะสงฆ์” เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ยังผลให้ทางราชการรับรองวิทยฐานะของผู้สำเร็จ การศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งเป็นครั้งแรกในเวลาต่อมา (คือ พ.ศ.๒๕๒๗) และต่อมามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสอง แห่งก็ได้พัฒนาวิชาการให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐

คุณค่าด้านการปฏิบัติ
ผลงานด้านพระนิพนธ์และการสั่งสอนของเจ้าพระคุณ สมเด็จ ฯ ได้ให้สิ่งที่มีคุณค่าทั้งต่อวงการศึกษาและประชาชนทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ หลัก หรือแนวทาง ในการศึกษาพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ ที่นิยมเรียกกันว่า “การปฏิบัติสมาธิ กรรมฐาน” พระนิพนธ์เกี่ยวกับธรรมปฏิบัติของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ดังที่ได้ระบุชื่อมาแล้วใน ตอนต้น นอกจากจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมหรือการปฏิบัติสมาธิ กรรมฐานแล้ว ยังให้หลักการปฏิบัติหรือแนวปฏิบัติสมาธิกรรมฐานที่ผู้สนใจทั่วไปสามารถนำ ไปศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ ด้วยตนเอง

คำสอนเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานที่ทรงสอนนิสิตนักศึกษาหรือบุคลากรใน หน่วยงานต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำสมาธิเบื้องต้น” เป็นการแสดง ให้เห็นว่า เรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่มุ่งผลเฉพาะการบรรลุธรรมขั้นสูง หรือบรรลุนิพพานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์แม้ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การศึกษา การทำงานเป็นต้น เพราะจิตใจที่ได้รับการฝึกหัดนั้น ย่อมมีพลังที่จะระงับ อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ ซึ่งเท่ากับสามารถควบคุมจิตใจของตนได้นั่นเอง และย่อมมี พลังสมาธิดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานทุกด้าน

และในรายการบริหารทางจิต ที่ทรงแสดงทางสถานีวิทยุ อส พระราชวังดุสิต ทุก เช้าวันอาทิตย์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีนั้น ก็ทรงแสดงให้เห็นว่า การฝึกสมาธินั้น มิใช่ จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่หรือว่าฝึกปฏิบัติได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถฝึก และควร ฝึกตั้งแต่วัยเด็ก เพราะจิตทุกระดับควรได้รับการฝึกหัด ยิ่งฝึกหัดได้มากเท่าไร ผลดีก็เกิดขึ้น แก่ผู้ฝึกหัดมากเท่านั้น

เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นผู้ริเริ่มแนะนำเผยแพร่ให้คนทุกระดับทั้งวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ สนใจฝึกหัดปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน พร้อมทั้งทรงแนะนำวิธีการฝึกหัดที่เหมาะสม แก่คนในวัยนั้น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาจิตใจ พัฒนาจริยธรรมคุณธรรม ซึ่ง ผลรวมก็คือการ พัฒนาชีวิตของคนทุกระดับให้ดีมีสุขขึ้น แนวพระดำริและแนวปฏิบัติดังกล่าว นี้ก็ได้รับการสาน ต่อกระทั่งเกิดเป็นความนิยมแพร่หลายไปทั่ว ทั้งในสถานศึกษาและในหน่วย งานต่าง ๆ ทั่วไป

คุณค่าชีวิตที่ให้ไว้
แม้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จะทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ในสมณเพศมาโดยตลอด แต่ความเป็นไปในพระชนมชีพของพระองค์สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดีได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เพราะแก่นแท้ของชีวิตหรือว่าส่วนที่เป็นความดีของชีวิต ที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการสร้างความดีให้แก่ตนเองและสังคมนั้นก็คือคุณธรรม และคุณธรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมของบรรพชิตหรือคุณธรรมของคฤหัสถ์ก็คือคุณธรรมอันเดียวกัน เช่น เมตตา กรุณา ไม่ว่าจะเป็นเมตตา กรุณา ที่มีอยู่ในจิตใจของพระหรือมีอยู่ในจิตใจของชาวบ้าน ก็เป็นเมตตา กรุณา อันเดียวกัน

พระประวัติชีวิตและผลงานของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้สิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การยึดถือเป็นแบบ อย่างของคนทั่วไป อย่างน้อย ๒ ประการคือ ชีวิตแบบอย่าง และปฏิปทาแบบอย่าง

ชีวิตแบบอย่าง
ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นั้นก็ไม่แตกต่างไปจากชีวิตของคนทั่ว ๆ ไป คือมีทั้งผิด หวังและสมหวัง มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่โดยที่ทรงมีคุณธรรม หลายประการที่โดดเด่นเป็นแกนหรือเป็นแก่นของชีวิต ชีวิตของพระองค์จึงมีความสมหวัง มากกว่าผิดหวัง มีความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว และมีความดีใจมากกว่าเสียใจกล่าวโดยรวมก็คือ ด้วยคุณธรรมอันเป็นแกนของชีวิตดังกล่าวพระองค์จึงทรงประสบความสำเร็จ หรือทรง เจริญก้าวหน้าไปตามครรลองของชีวิตจนถึงที่สุด ดังเป็นที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้ หากวิเคราะห์ ตามที่ปรากฏในพระประวัติ ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณธรรมที่โดดเด่นในชีวิตของพระองค์ ก็คือ

o อดทน
o ใฝ่รู้
o กตัญญู
o ถ่อมตน
o คารวธรรม

พระคุณธรรมประการแรกที่ปรากฏเด่นชัดในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือ ความอดทน (ขันติ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีพระสุขภาพอ่อนแอไม่แข็งแรงมาตั้งเยาว์วัย และมีผลสืบเนื่องมา จนถึงเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร พระสุขภาพที่อ่อนแอนับเป็นอุปสรรคสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน พระองค์ต้องทรงใช้ความอดทนอย่างหนักจึงสามารถผ่านพ้นอุปสรรคแต่ละขั้นตอนมาได้ ทรงเล่าว่า บางครั้งเมื่อถึงเวลาสอบ ต้องทรงใช้ผ้าสักหลาดพันรอบอกหลายชั้น เพื่อไม่ให้เกิดอาการหนาวสั่น ในเวลานั่งสอบ นอกจากจะต้องงอดทนต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังต้องงอดทนต่อเสียง ค่อนแคะของเพื่อนร่วมสำนักอีกนานัปการ แต่สิ่งเหล่านี้แทนที่จะทำให้กำลังพระทัยลดน้อยลง แต่กลับทำให้ทรงรู้สึกว่าจะต้องมีความอดทนมากขึ้น

พระคุณธรรมที่โดดเด่นประการต่อมาก็คือ ความใฝ่รู้ (สิกขกามตา) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงเป็นผู้ใฝ่รู้มาโดยตลอดแม้เมื่อทรงเป็นพระมหาเถระแล้ว พระอัธยาศัยใฝ่รู้ของพระองค์ ก็ไม่เคยจืดจาง ได้ทรงแสวงหาความรู้อยู่เสมอด้วยการทรงอ่านหนังสือ ทั้งที่เป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หนังสือดีมีประโยชน์บางเรื่องที่ทรงอ่านแล้ว ยังทรงพระเมตตาแนะนำให้ ผู้ใกล้ชิดอ่านด้วย โดยมักมีรับสั่งว่า “เรื่องนี้เขาเขียนดี น่าอ่าน”

พระคุณธรรมข้อกตัญญู ดังกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมี พระคุณธรรมข้อนี้อย่างเด่นชัด และทรงหาโอกาสสนองคุณของผู้ที่มีพระคุณต่อพระองค์ แม้เพียงเล็กน้อยอยู่เสมอ ดังเช่น เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ก็ทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นรูปแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหาก ไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นรูปที่ ๑ ก็คงไม่มีสมเด็จพระญาณสังวร คือพระองค์เอง เป็นรูปที่ ๒ ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา จึงเสด็จไปถวายสักการะพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ที่วัดราชสิทธารามเป็นประจำทุกปีตลอด

อีกกรณีหนึ่ง เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ และทรงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารใหม่ ๆ (พ.ศ.๒๕๐๔) คราวหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ได้ทรงปรารภกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า “เจ้าคุณ จะเอาวัดบวรไว้อยู่หรือ” ซึ่งหมายความว่า จะปกครองวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นพระอารามหลวงที่สำคัญทั้งมีพระเถระที่มีอาวุโสมากกว่า อยู่มากองค์ในขณะนั้นให้เรียบร้อยได้หรือ ด้วยพระปรารภดังกล่าวนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงถือว่า สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) ทรงมีพระเมตตาต่อพระองค์ จึงทรงรำลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นั้นอยู่เสมอ เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาจึงทรงไปถวายสักการะ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น นับแต่เมื่อยังมีพระชนม์อยู่และตลอดมาจนบัดนี้

พระคุณธรรมข้อถ่อมตน (นิวาตะ) เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงมีความถ่อมพระองค์มาแต่ต้น เพราะความถ่อมตน เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ จึงทรงเป็นพระเถระที่สงบเสงี่ยม สำรวมระวัง ตรัสน้อย และไม่ชอบแสดงตน ดังเช่นในการสอนสมาธิกรรมฐาน พระองค์ก็มิได้แสดงพระองค์ว่าเป็นผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญกว่าใคร ๆ แต่มักตรัสว่า “แนะนำในฐานะผู้ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วยกัน”

บางครั้งมีผู้กล่าวถึงพระองค์ว่า เป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบจะทรงแนะว่า ไม่ควรกล่าวเช่นนั้น เพราะ “ใคร ๆ ไม่ควรที่จะอวดอ้างตนว่าเป็นครูอาจารย์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทุกคนมีหน้าที่ต้องถวายงานสนองพระราชประสงค์เท่านั้น”

อีกตัวอย่างหนึ่ง เจ้าพระคุณสมเด็จทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมาตั้งแต่ทรง ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ และทรงเป็นตลอดมาทุกสมัย ในการประชุมมหาเถรสมาคม แต่ละครั้ง เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ประทับเก้าอี้ท้ายแถวเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฎกษัตริยาราม ซึ่งทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในขณะนั้น ทรงทักแบบ สัพยอกด้วยพระเมตตาว่า “เจ้าคุณสานั่งไกลนัก กลัวจะเป็นสมเด็จหรือไง”

พระคุณธรรมข้อคารวธรรม คือความเป็นผู้มีความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ คารวธรรม ประการแรกของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็คือความเคารพในพระรัตนตรัย ความเคารพในพระพุทธเจ้านั้น ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระพุทธรูปในทุกสถานการณ์ ดังเช่น ทรงแนะนำภิกษุสามเณร อยู่เสมอว่า การลงโบสถ์ทำวัตรเช้าค่ำนั้น ก็เสมือนการไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวันทำให้รำลึกถึง พระพุทธคุณ จิตใจไม่ห่างไกลจากพระธรรม ข้อที่ทรงแนะนำอีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูป ไม่ควรตั้งวางในที่ต่ำ หรือในที่ที่จะต้องเดินข้ามไปข้ามมาเป็นต้น

ความเคารพต่อพระธรรมก็ทรงแสดงออกด้วยการเคารพต่อพระคัมภีร์ เช่นพระคัมภีร์ทาง พระพุทธศาสนาทุกชนิดทรงเก็บรักษาไว้ในที่สูงเสมอ ไม่เก็บไว้ในที่ที่ต้องเดินข้ามเดินผ่านเช่นกัน แม้หนังสือธรรมทุกชนิดก็ไม่ทรงวางบนพื้นธรรมดา ต้องวางไว้บนที่สูงเช่น บนโต๊ะ บนพานเป็นต้น หากทรงเห็นใครวางหนังสือธรรมบนพื้น ก็จะตรัสเตือนว่า “นั่นพระธรรม อย่าวางบนพื้น”

ความเคารพในพระสงฆ์ ก็ทรงแสดงออกโดยทรงมีความเคารพต่อ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หรือที่เรียกกันว่า พระกรรมฐานเป็นพิเศษ เช่นเมื่อมีพระกรรมฐานเป็น อาคันตุกะ มาสู่พระอาราม แม้จะเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่าก็ทรงต้อนรับปฏิสันถารด้วยความเคารพ

พระคุณธรรมข้อนี้ที่ปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไปก็คือ ทรงแสดงความเคารพต่อพระเถระ ผู้มีอาวุโสมากกว่าพระองค์ทุกรูป ไม่ว่าพระเถระรูปนั้นจะเป็นภิกษุธรรมดาไม่มียศศักดิ์ อะไรหากมีอาวุโสพรรษามากกว่า พระองค์ก็ทรงกราบแสดงความเคารพเสมอ เมื่อมีพระสงฆ์ จากที่ต่าง ๆ มาเข้าเฝ้า หากมีพระเถระผู้เฒ้ามาด้วย ก็จะทรงถามก่อนว่า “ท่านพรรษาเท่าไร” หากมีอายุ พรรษามากกว่า จะทรงนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะและทรงกราบตามธรรมเนียมทางพระวินัย

พระคุณธรรมเหล่านี้ ทำให้ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ เป็นชีวิตที่งดงามหรือกล่าวอย่าง ภาษาชาวโลกก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เป็นชีวิตที่สามารถยึดถือ เป็นแบบอย่าง ได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตทาง โลกหรือชีวิตทางธรรม

ปฏิปทาแบบอย่าง
การกล่าวถึงพระคุณธรรมในชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ข้างต้นนั้น เป็นการมอง ชีวิตของเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ในภาพรวมเช่นกับชีวิตของคนทั่วไปว่า ทรงมีอะไรบ้าง ทรงทำ อะไรบ้าง แต่ถ้ามองชีวิตของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง ก็จะเห็นแบบอย่าง ของชีวิตในทางธรรมที่ชัดเจนอีกภาพหนึ่ง นั่นคือ ปฏิปทาแบบอย่าง สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป พระปฏิปทาอันเป็นแบบอย่างดังกล่าวก็คือ

ความเป็นผู้ทรงปริยัติและไม่ทิ้งปฏิบัติ
ความเป็นผู้สำรวมระวังในพระวินัย
ความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ

ปริญญาดุษฎีบัณฑิต
พ.ศ. ๒๕๒๙ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยมหิดล ถวายปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๓ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา
พ.ศ. ๒๕๓๘ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถวายปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๓๙ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๔๑ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย
พ.ศ. ๒๕๔๓ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๔๕ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

พระศาสนกิจ
ทางการคณะสงฆ์
พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามความในมาตรา ๖๐ แห่ง-พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นพระวินัยธรชั้นอุทธรณ์
พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พุทธศักราช ๒๔๙๙ รักษาการพระวินัยธรชั้นฎีกา
พุทธศักราช ๒๕๐๓ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การปกครอง สั่งการองค์การปกครอง คณะธรรมยุต

พุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นกรรมการโครงการเชิดชูและบำรุงพระพุทธศาสนาโดยตำแหน่ง, เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะธรรมยุตภาคทุกภาค, เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

พุทธศักราช ๒๕๐๖ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมและเป็นตลอดมาทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน, เป็นอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎมหาเถรสมาคมตลอดมาทุกสมัย, เป็นอนุกรรมการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี

พุทธศักราช ๒๕๐๗ เป็นอนุกรรมการพิจารณาร่างระเบียบการเดินทางไปต่างประเทศ ของพระภิกษุสามเณร
พุทธศักราช ๒๕๐๙ เป็นประธานอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
พุทธศักราช ๒๕๑๐ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาเรื่องวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประจำปี ๒๕๑๑, เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาร่างระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยวิธีปฏิบัติในการปลูกสร้างอาคารที่ดินของวัดซึ่งมีผู้เช่าอยู่, เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การยกเว้นค่าโดยสารรถไฟให้แก่พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา, เป็นอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขข้อขัดข้องในระหว่างวัด กับผู้เช่า (พ.ว.ช.)

พุทธศักราช ๒๕๑๑ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาโครงการรับการศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์

พุทธศักราช ๒๕๑๒ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการศึกษา โรงเรียนมัธยมของคณะสงฆ์, เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โครงการจัดตั้งโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนกลาง

พุทธศักราช ๒๕๑๔ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุ

พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นประธานกรรมการบริหารสภาการศึกษาของคณะสงฆ์, เป็นเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ ( ธรรมยุต )

พุทธศักราช ๒๕๑๖ เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตร ศาสนศึกษาของคณะสงฆ์
พุทธศักราช ๒๕๒๑ เป็นรองประธานคณะกรรมการ อำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์
พุทธศักราช ๒๕๒๗ เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริม พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา, เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์

พุทธศักราช ๒๕๓๑ รักษาการเจ้าอาวาสวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดชลบุรี

ทางการมหามกุฏ
พุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
พุทธศักราช ๒๔๙๐ เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
พุทธศักราช ๒๔๙๔ เป็นกรรมการอำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯ, เป็นกรรมการแผนกตำราของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
พุทธศักราช ๒๕๐๔ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯ, เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
พุทธศักราช ๒๕๓๑ เป็นนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯ, เป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ฯ

หน้าที่พิเศษ
พุทธศักราช ๒๔๙๕ ร่วมในคณะทูตพิเศษที่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯ ส่งไปร่วมฉลองพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุพระอัครสาวก ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
พุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นกรรมการตรวจชำระพระคัมภีร์ฎีกา
พุทธศักราช ๒๔๙๗ ร่วมในคณะพระเถระแห่งคณะสงฆ์ไทย ไปร่วมประชุมสมัยที่ ๒ แห่งฉัฏฐสังคายนาพระไตรปิฏก ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า
พุทธศักราช ๒๔๙๙ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเลือกให้เป็น “ พระอภิบาล ” ( พระพี่เลี้ยง) ของพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ในระหว่างทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคมถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

พุทธศักราช ๒๕๐๑ เป็นกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และมนุษยธรรม ( ก. ศ. ม.)
พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน
พุทธศักราช ๒๕๑๖ ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม และรองประธานกรรมการ คณะธรรมยุตทรงได้รับฉันทานุมัติจากกรรมการคณะธรรมยุต ให้เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์และทรงเยี่ยมพุทธศาสนิกชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม ๙ จังหวัด คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดขอนแก่น

พุทธศักราช ๒๕๑๙ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์
พุทธศักราช ๒๕๒๐ เป็นประธานอำนวยการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณ์
พุทธศักราช ๒๕๒๑ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในการทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัย ขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ ฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑

พุทธศักราช ๒๕๒๒ เป็นประธานอำนวยการมูลนิธิสิรินธร
พุทธศักราช ๒๕๒๔ ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการคณะธรรมยุต ทรงได้รับฉันทานุมัติ จาก กรรมการคณะธรรมยุต ให้เสด็จไปตรวจการ คณะสงฆ์และทรงเยี่ยมพุทธศาสนิกชน ในภาคเหนือ รวม ๑๐ จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดตาก จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดกำแพงเพชร

พุทธศักราช ๒๕๒๕ เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

พุทธศักราช ๒๕๒๖ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์
พุทธศักราช ๒๕๒๗ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
พุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นผู้อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ในกระบวนพระราชอิสริยยศ สู่พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง, เป็นรองประธานกรรมการสังคีติการกสงฆ์ ในการสังคายนาพระธรรม วินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก, เป็นสังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกพระวินัยปิฎก ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร จนสำเร็จทันในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

พุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิแผ่นดินธรรม, เป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูจิตใจผู้ติดยาเสพติด, เป็นพระอุปัชฌาย์ ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ในการหม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงผนวชสามเณร ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐

พุทธศักราช ๒๕๓๒ เสด็จเยี่ยมพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ตามคำกราบทูลอาราธนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ กันยายน ๒๕๓๒

พุทธศักราช ๒๕๓๓ เป็นประธานสงฆ์ในการเจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีพุทธาภิเษก พระพุทธรูปชัยวัฒน์และพระกริ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา และเป็นประธานจุดเทียนชัย ทรงนั่งปรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หน้าต่อไป >>

เนื้อหา : หอมรดกไทย, www.dhammajak.net และ www.sangharaja.org
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก