หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)

พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
[ วัดสุทัศน์เทพวราราม ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( คัดลอกจาก http://arcbs.bansomdej.ac.th/rLocal/stories.php )
พระสังฆราชองค์ที่ 12 (พ.ศ. 2481-2487 )
สมเด็จพระสังฆราช วัดสุทัศน์เทพวราราม พระนามเดิมว่า แพ พระฉายานาม ติสสเทว ประสูติในรัชกาลที่ 4 วันพุธ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2399 บิดาชื่อ นุตร์ มารดาชื่อ อ้น เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี มีพี่น้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันรวม 7 คน คือ

1. นางคล้าม
2. สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
3. หลวงพุทธพันธพิทักษ์ (อยู่)
4. นางทองคำ พงษ์ปาละ
5. นางทองสุข
6. นายชื่น
7. นายใหญ่

เมื่อพระชนมายุได้ 7 ขวบ ได้ไปศึกษาอักขระสมัยอยู่ที่วัดทองนพคุณ เนื่องจากท่านบิดาเลื่อมใสในสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มาตั้งแต่ท่านยังครองวัดนพคุณ ครั้นชนมายุได้ 13 ปี จึงพาไปถวายเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม มาอยู่วัดราชบูรณะ ท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. 2411 แล้วกลับไปเล่าเรียนอยู่วัดทองนพคุณตามเดิม ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระอาจารย์โพ วัดเศวตรฉัตร

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อชนมายุได้ 16 ปี สมเด็จวันรัต (สมบูรณ์) ให้ไปรับมาอยู่กับท่านที่ วัดพระเชตุพน เพราะสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ได้มาอยู่ในวัดนั้น ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) เป็นพื้น นอกจากนั้นได้เล่าเรียนกับเสมียนตาสุขบ้าง พระโหราธิบดี (ชุ่ม) บัาง พระอาจารย์โพบ้าง ได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรกที่พระที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. 2419 แต่แปลตกหาได้เป็นเปรียญในปีนั้นไม่

และในปี พ.ศ. 2419 นั้นเอง อายุครบอุปสมบท แต่สมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) อาพาธ ต้องอยู่ประจำเพื่อพยาบาล จึงมิได้มีโอกาสอุปสมบท และเมื่อสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) ใกล้ถึงมรณภาพนั้น ท่านแนะนำให้ไปอยู่เป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ แต่ครั้งยังเป็นพระเทพกวี

ครั้นสมเด็จพระวันรัต (สมบูรณ์) มรณภาพแล้ว จึงได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (แดง) แล้วอุปสมบทที่วัดเศวตรฉัตรอันอยู่ใกล้เป็นบ้านและสำนักเรียนเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2422 แล้วมาอยู่ที่วัดสุทัศน์กับสมเด็จพระวันรัต (แดง) ต่อมา ในตอนนี้ได้เล่าเรียนกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพื้นและได้ไปเรียนกับสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์บ้าง

เมื่อสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกวี ได้เลื่อนเป็น พระธรรมวโรดม ได้ตั้งให้ท่านเป็นพระครูใบฎีกา ใน ฐานานุกรมตำแหน่งนั้น แล้วเลื่อนเป็นพระครูวินัยธรโดยลำดับ เมื่อเป็นพระครูวินัยธรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งที่ 2 ที่พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. 2425 ได้เป็นเปรียญ 4 ประโยค ต่อมาปี พ.ศ. 2428 เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกเป็นครั้งที่ 3 ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แปลได้อีกประโยค 1 รวมเป็น 5 ประโยค

ปี พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระศรีสมโพธิ์ ถึงปี พ.ศ. 2439 อันเป็นวันในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบหมื่นวันแห่งการเสวยราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอย และเพิ่มนิตยภัต ในคราวเดียวกันกับที่ได้โปรดให้ พระธรรมวโรดม (แสง) วัดราชบูรณะ เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ถึงปีจอ พ.ศ. 2441 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพโมลี สถิต ณ วัสดุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร มีนิตยภัตเดือน 4 ตำลึงกึ่ง

ต่อมา พ.ศ. 2443 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเทพโมลีเป็นพระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณนายกตรีปิฏกมุนี มหาคณาธิบดีสมณิศร บวรสังฆราม คามวาสี สถิต ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานหิรัญบัฎ ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระพรหมมุนี เมื่อปี พ.ศ. 2455

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ ฯลฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครไชยศรีเป็นเปรียญ ทรงพระปริยัติธรรม มีปฏิบัติอันงาม นำให้เกิดความเลื่อมใสของพุทธบริษัททั่วไป ได้เป็นภารธุระแก่พระศาสนา เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาส ทำนุบำรุงวัดสุทัศน์เทพวรารามให้เจริญโดยลำดับมา บริหารรักษาพระสงฆ์ เรียบร้อยดีในฝ่ายปริยัติ ได้เป็นผู้จัดการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดสุทัศน์เทพวรารามอันเป็นสถานศึกษาใหญ่ตำบลหนึ่ง เมื่อถึงคราวสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ได้เป็นกรรมการสอบด้วยรูปหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงหยั่งทราบคุณสมบัติของพระธรรมโกษาจารย์มาตั้งแต่เดิม จึงได้ทรงยกย่องในตำแหน่งพิเศษ พระราชทานตาลิปัตรแฉกประดับพลอย ให้ถือมีพระเกียรติยศเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ครั้งยังเป็นพระศรีสมโพธิ์ เมื่อครั้งจัดคณะสงฆ์ในมณฑลหัวเมือง ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง เจ้าคณะมณฑลนครไชยศรี ก็มีน้ำใจเห็นแก่พระพุทธศาสนา บริหารคณะมณฑลมาด้วยความเรียบร้อยจนทุกวันนี้ ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เป็นประธานแห่งสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร พระธรรมโกศาจารย์ก็ได้เป็นกำลังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอด้วยรูปหนึ่ง ในการบริหารคณะสงฆ์เมื่อคราวจัดคณะกลางในกรุงเทพฯ พระธรรมโกศาจารย์ได้รับตำแหน่งในหน้าที่เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะแขวงสำเพ็ง จัดการปกครองให้เข้าระเบียบเป็นอันดี พระธรรมโกศาจารย์ มีอัธยาศัยเป็นแก่พระพุทธศาสนาเป็นการธุระในกรณียกิจนั้น ๆ โดยลำดับมาฉะนี้ในเวลานี้มีพรรษายุการจัดว่าเป็นผู้ใหญ่ และเป็นหลักอยู่รูปหนึ่งในคณะสงฆ์ สมควรจะสถาปนาพระธรรมโกศาจารย์ เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เจ้าคณะรองมีนามจารึกในหิรัญบัฎว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังคารามคามวาสี สังฆนายก เจ้าคณะรองคณะากลางสถิต ณ วัดสุทัศน์ เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง มีนิตยภัตเดือนละ 32 บาท มีถานานุศักดิ์ควรตั้งถานานุกรมได้ 8 รูป

ต่อมาถึงปีกุน พุทธศักราช 2466 ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งให้สถาปนา พระพรหมมุนีไว้ในตำแหน่งสมเด็จ พระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี มีราชทินนานามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ นิพัทธนคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศลวิมลศีลขันธ์สรรพสมณคุณ วิบุลยประสิทธิ์ บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี มหาสังฆนายกสถิต ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง

ครั้นถึง พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสถาปนา เป็นสมเด็จพระวันรัต

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค 2472 พรรษาปัจจุบันสมัย สัปตมสัมพัตสร กุมภาพันธ์มาส จตุรวิงค์สุรทิน จันทรวาร โดยกาลปริเฉก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ฐานันดรศักดิ์เจ้าคณะใหญ่หนใต้อันเป็นตำแหน่งสำคัญ ในมหาเถรสมาคมยังว่างอยู่ สมควรจะยกพระมหาเถรเจ้า ผู้ถึงพร้อมด้วยสมณคุณขึ้นสถิตในสมณศักดิ์ และสถาปนาสมณฐานันดรเจ้าคณะสงฆ์แทนที่สืบไป บัดนี้จวนกาลฉัตรมงคลอุดมสมัย ควรจะผดุงอิสริยยศพระมหาเถระไว้ให้บริบูรณ์ โดยอนุกรมตามตำแหน่ง เพื่อจะได้แบ่งภาระช่วยกัน ประกอบศาสนกิจให้สำเร็จประโยชน์แก่บรรพชิต แลคฤหัสถ์ตามสามารถ

ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี ประกอบด้วยคุณธรรมอันโกศลวิมลปฏิภาณญาณปรีชา ดำเนินในสัมมาปฏิบัติ ทรงสมณคุณพหุลกิจปรหิตจรรยา แจ้งอยู่ในประกาศสถาปนา เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เมื่อพระพุทธศาสนายุกาล 2466 พรรษานั้นแล้ว บัดนี้ก็เจริญด้วยชนมายุกาลรัตตัญญุภาพ เป็นผู้ทราบประจักษ์แจ้ง ในธรรมเนียมประเพณีพิธีสงฆ์ทั้งปวงแต่กาลนาน มีพรหมจริยาวัตรศีลสมาจารย์ เรียบร้อยสมบูรณ์บริสุทธิ์ ควรนับเป็นสุตพุทธมุนีศาสนาภิรัต มีอัธยาศัยหนักน้อมไปในทางพระพุทธศาสนา ยั่งยืนอยู่ในจารีตสมณวงศ์ เป็นหลักเป็นประธานสงฆ์คณะมหานิกายในปัจจุบัน ยากที่จะมีผู้เสมอเหมือน ทั้งตั้งอยู่ตำแหน่งพระราชาคณะมานานถึง 40 ปี สถิตในมหาเถระธรรมราศี เป็นครุภาวนียสถานแห่งสงฆ์อันพิเศษ เป็นเหตุให้ถึงอปริหานิยธรรม สมควรเป็นทักษิณมหาคณิศวราจารย์ราชาคณะผู้ใหญ่ ที่อิสริยยศยิ่งกว่าสมณนิกรคามวาสีและอรัญวาสีหนใต้ทั้งปวง

จึงมีพระบรมราชโองการ มาน พระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะทักษิณศวราธิบดี มีพระราชทินนามจารึก ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระวันรัตปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาทักษิณคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี สถิต ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะใหญ่หนใต้

หลังจากที่ได้รับพระสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่หนใต้ แต่ พ.ศ. 2472 มา ได้ปกครองคณะสงฆ์ให้เจริญเรียบร้อยก้าวหน้ามาโดยลำดับ มิได้ระส่ำระส่าย เป็นไปในทางวิวัฒนาการ ผู้อยู่ในบังคับบัญชาก็ได้รับความสุขสำราญชื่นชมยินดี ความติดขัดแม้จะมีก็ระงับได้ด้วยความสุขุมปรีชา เป็นที่พำนักปรึกษาของเจ้าคณะ ซึ่งมีข้อความข้องใจในการบริหาร ชี้แจงนโยบายการบริบาลคณะสงฆ์ โดยสันติวิธีเป็นที่นิยมยินดีของพุทธบริษัททั่วไป

การปกครองคณะสงฆ์ร่วมในจังหวัดพระนครนั้นเล่า ตั้งแต่แรกเริ่มจัดระเบียบเข้าสู่ระบอบใหม่ในทำนองการคณะแขวง สมเด็จก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวง ดำรงตำแหน่งแต่เดิมมา ครั้งก่อนเรียกว่าแขวงสำเพ็ง ครั้งยุคต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแขวงคณะนอก จังหวัดพระนคร ในคราวที่ฝ่ายอาณาจักรโอนอำเภอพระโขนง มาขึ้นจังหวัดพระนครพอดี ในคราวที่ฝ่ายอาณาจักร ยุบฐานะจังหวัดมีนบุรี อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนั้น คืออำเภอมีนบุรี อำเภอบางกะปิ อำเภอลาดกระบัง อำเภอหนองจอก ก็โอนมาขึ้นในจังหวัดพระนคร การคณะสงฆ์ในอำเภอนั้น ๆ ทั้งหมดก็โอนมาขึ้นกับคณะแขวงนอก จังหวัดพระนคร ต้องเพิ่มภาระในการปกครองขึ้นอีกมาก กระนั้นก็สู้บั่นบากควบคุมการคณะให้เรียบร้อยเจริญดีเป็นลำดับมา

ในด้านการศึกษา ก็ได้แนะนำปลูกภิกษุสามเณร ให้เกิดแนะนำให้เกิดอุตสาหะ ในการเรียนการสอน เพื่อการศึกษาแพร่หลายดี จึงได้ขอให้ทางการเปิดสถานที่ทำการสอบความรู้ นักธรรมขึ้นเป็นประจำ ในอำเภอนั้น ๆ จนเป็นปึกแผ่นถาวรมาจนถึงยุคนี้ ถึง พ.ศ. 2479 เมื่อตำแหน่งปลัดแขวงในพระนครว่างลง สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ จึงได้มีพระบัญชา ให้ย้ายท่านเข้ามาเป็นปลัดแขวงในพระนคร และท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อยตลอดมา

ในส่วนพระปริยัติธรรม ท่านได้รับหน้าที่เป็นแม่กองสนามหลวงฝ่ายบาลี ทำการสอบความรู้พระปริยัติธรรมพระภิกษุสมเณร ในพระราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2471 – 2474 รวม 4 ศก การในส่วนมหาเถรสมาคมนั้น ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการด้วยรูปหนึ่ง ตั้งแต่เดิมมา ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ในฐานแห่งกรรมการเป็นอันดี เสมอต้นเสมอปลาย มิได้บกพร่องอุดมคติ เป็นไปในทำนองเยภุยยสิกาวาท มุ่งหมายเป็นสำคัญก็คือ ถือมติส่วนรวมโดยสมานฉันท์มีใจมั่นอยู่ด้วยสามัคคี เพราะยึดอุดมคติเช่นนี้ จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม กอปรทั้งที่ท่านสมบูรณ์ด้วยคุณวุฒิ และวัยวุฒิเป็นที่สุด ในมหาเถรสมาคม จึงเป็นที่นิยมนับถือในฐานะเป็นประมุขสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

และในคณะมหานิกายนั้น เมื่อเกิดมีอุปสรรคอันใดเข้ามาขัดขวาง ก็ได้อาศัยท่านเป็นหลักที่ปรึกษาหาทาง ที่จะหลีกลัดเข้าสู่สันติวิธีมิได้ท้อถอย และเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้ง ๆ ที่ทรงพระชราภาพมากแล้ว หากจะปลีกพระองค์ออกใฝ่สุขแห่งความสงบเฉพาะพระองค์แล้ว ก็จะเป็นเอกีภาวสุขได้อย่างสมบูรณ์แห่งจิตใจ และสังขาร แต่พระองค์หาได้คิดเช่นนั้น ได้ทรงเห็นแก่พระศาสนา และความร่มเย็นของผู้ปฏิบัติธรรม อันยึดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นสรณะ และเพื่อยืนยาวมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา อันเป็นหลักของประชาชนชาวไทยทั้งมวล มิได้ทรงถือความชราภาพมาเป็นสิ่งกีดขวางการพระศาสนา ปฏิปทา และคุณูปการของท่านเพียบพร้อมด้วยศาสนกิจดังกล่าวมาแล้ว จึงเป็นมูลัฏฐาปนีย์ ที่เด่นเป็นมิ่งขวัญของคณะสงฆ์ทั่วไป

ครั้นถึง พ.ศ.2481 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 7 เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสิ้นพระชนม์ลง ประจวบกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากยุโรป เข้ามาเยี่ยมพระนคร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระราชทานตาลิปัตรแฉกประจำตำแหน่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระวันรัต ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช
โดยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวง ชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆ์ สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นสนองพระองค์ต่อไปและโดยที่สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศน์เทพวราราม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ มีคุณูปการในทางศาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงให้ประกาศสถาปนา สมเด็จพระวันรัต ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดี สงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

ประกาศมา ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

แล้วทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกต่อประมุขสงฆ์ มีองค์พระสังฆราชเป็นประธานครั้นถึงสมัยมงคลกาลเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2482 จึงเป็นพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย มีคำประกาศต่อไปนี้

ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)

อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

โดยที่เห็นว่าสมเด็จพระสังฆราช ทรงสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเอนกประการ อาทิ เจริญพรรษายุกาลรัตนมหาเถรธรรม สุขุมคัมภีรญาณปรีชาสามารถ ถึงพร้อมด้วยสมณคุณพรหมจริยวัตรศีลสมาจารบริสุทธิ์ ประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิต ประโยชน์อันไพศาลแก่พุทธบริษัทมีคุณสมบัติเป็นเอนกนัย ดังปรากฏเกียรติคุณตามประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เมื่อพุทธศักราช 2472 แล้วนั้น

ครั้นต่อมาก็ยิ่งเจริญด้วยอุสาหวิริยาธิคุณสามารถประกอบการศาสนกิจให้เจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา ได้รับภาระปกครองคณะสงฆ์ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง นอก จังหวัดพระนคร และปลัดคณะแขวงใน จังหวัดพระนคร บริหารคณะสงฆ์ในการปกครองโดยเรียบร้อยวิวัฒนาการ ทั้งในการศึกษาและพระปริยัติธรรมก็ได้จัดการให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นถาวรด้วยสุขุมปรีชาญาณ มีนโยบายการบริหารด้วยสันติวิธี เป็นที่นิยมยินดีของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการในมหาเถรสมาคม ก็ปฏิบัติการในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี มิบกพร่อง โดยอุดมคติเป็นไปในทำนองเยภุยยสิกา เป็นที่เคารพในมหาเถรสมาคม ประกอบทั้งสมบูรณ์ด้วยวัยวุฒิคุณวุฒิเป็นที่สุดในมหาเถรสมาคม จึงเป็นที่นิยมชมชื่นทั้งในฐานที่เป็นพระมหาเถระและเป็นประมุขสงฆ์คณะมหานิกาย ด้วยคุณูปการในทางศาสนกิจอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ จึงได้ประกาศสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายก ปธานาธิบดีสงฆมลฑลทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระองค์เป็นพุทธมามกะก็ได้ทรงเป็นพุทธมามกาจารย์ และถวายโอวาทเป็นเครื่องเจริญพระราชศรัทธาประสาทเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบัดนี้จวนมงคลสมัยเฉลิมพระชนพรราษา สมควรสถาปนาสมณฐานันดรศักดิ์ให้เต็มตามราชประเพณีเป็นปรากฏเกียรติยศคุณสืบไป

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงให้เฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราช ตามที่จารึกในสุพรรรบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสุขุมธานธำรง สกลสังฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุศโลภาศ อานันทมหาราชพุทธมามกาจารย์ ติสฺสเทวา ภิธานสังฆวิสสุต ปาวจนุตตมโศภณ วิมลศีลสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคาราวสถาน วิจิตรปฏิภาณ พัฒนคุณ อดุลคัมภีรญาณสุมทร บวรสังฆาราม คามวาสี เสด็จสถิตยณวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรามหาวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ ควรทรงตั้งฐานานุกรมได้ 15 รูป คือ

พระครูมหาคณานุสิชฌน์ สังฆอิสริยาลังการ วิจารณโกศล วิมลสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดขวา 1
พระครูจุลคณานุสาสน์ วิจารโณถาศภาคยคุณ สุนทรสังฆมนุคุตติ วิสุทธิสังฆนายก ปิฏกธรรมรักขิต พระครูปลัดซ้าย 1
พระครูธรรมกถาสุนทร 1
พระครูวินัยกรณ์โสภณ 1
พระครูพรหมวิหาร พระครูปริตร 1
พระครูญาณวิสุทธิ์ พระครูปริตร 1
พระครูวินัยธร 1
พระครูธรรมธร 1
พระครูวิมลสรภาณ พระครูคู่สวด 1
พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด 1
พระครูบุลบรรณวัตร 1
พระครูสังฆบริการ 1
พระครูสมุห์ 1
พระครูใบฎีกา 1

ขออาราธนาพระคุณผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดร เพิ่มอิศริยยศในครั้งนี้จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุ สามเณร ในคณะและในพระอาราม ตามสมควรแก่กำลังและอิศริยยศที่พระราชทานนี้ และขอจง เจริญ อายุ วรรณะ สุขะ พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิจิรัฏฐิติวิรุฬหิ ไพบูลย์ในรพะพุทธศาสนา เทอญฯ

ประกาศมา ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2482 เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

เจ้าพนักงานได้เชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งที่วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 เวลา 14 นาฬิกา กับ 14 นาที มีพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาพร้อมกับยกเศวตรฉัตรแ ล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชพระสุพรรณบัฎในวันนั้น เวลา 17 นาฬิกา พระสงฆ์ 10 รูปเจริญพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ รุ่งขึ้น วันที่ 29 กันยายน เวลา 11 นาฬิกา พระสังฆ์รับพระราชทานฉันอาหารบิณฑบาต แล้วเจ้าพนักงานตั้งบายศรีและแว่นเวียนเทียน สมโภชพระสุพรรณบัฎแล้วเป็นเสร็จการ

พระกรณียกิจต่าง ๆ
พระกรณียกิจต่าง ๆ ของสมเด็จพระสังฆราชแพนั้น ในฐานะที่พระองค์ดำรงตำแหน่ง ในขณะที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการจัดระเบียบการคณะสังฆ์ให้เข้าสู่รูปสมัยใหม่ ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ดังกล่าวแล้วพอสรุปได้ดังนี้

1. เสด็จเปิดประชุมสมัยสามัญแห่งสังฆสภา ที่เปิดครั้งแรกเมื่อวันวิสาขบูชาที่ 28 พฤษภาคม 2485 และได้ทรงตั้งพระมหาเถระในสังฆสภาให้ดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยครบถ้วน เพื่อบริหารศาสนกิจต่อไปฯ
2. ประกาศตั้งเจ้าหน้าที่พิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2484ฯ
3. ประกาศเรื่องการโอนวัดมหานิกายเป็นวัดธรรมยุติฯ
4. เลิกระเบียบการบำรุงการศึกษาปริยัติธรรม โดยจัดเป็นหมวด ๆ และมีรายละเอียดต่าง ๆ แต่ละหมวดเพื่อเป็นหลักการปฏิบัติฯ

พระอัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ละมุนละม่อมอ่อนโยนเสวนาสนิทสนมกับคนทุกชั้น มิได้ถือพระองค์แม้ว่าจะได้มีตำแหน่งสูงสุดในทางฝ่ายพุทธจักรก็ตาม จึงเป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิต ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ มีความสม่ำเสมออยู่เป็นนิจ ทรงดำรัสแต่น้อยคำและตรงไปตรงมา แต่มีความหมายลึกซึ้งและแจ้งชัด ทรงมีพระเมตตาคุณเป็นที่ตั้งและใฝ่ในทางสันติ เมื่อวิวาทาธิกรณ์เกิดขึ้นทรงหยั่งเอาด้วยเหตุและผลรักษาความเที่ยงธรรมไม่โอนเอียงและพร้อมที่จะทรงอภัยให้ทุกเมื่อ ทรงตรัสสิ่งใดออกไปแล้วย่อมเที่ยงตรง รังเกียจการสู่รู้ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สมัยท่านผู้นำว่าอะไรว่าตามกัน ซึ่งมักจะพัวพันเข้ามาในคณะสงฆ์ด้วยแม้แต่การแสดงพระธรรมเทศนา ก็จะต้องอยู่ในช่วงที่ทางการจะตั้งหัวข้อ หรือแนวมาให้แสดง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะไม่ใช่แสดงธรรมเทศนา เป็นการแสดงปาฐกถาหรืออะไรทำนองนั้นมากกว่าหรือไม่ก็ต้องส่งสำเนาเทศนาไปให้ทางการเซ็นเซ่อร์ ตรวจตรวจแก้ไขก่อน บางครั้งก็มีเสียดสีติเตียนฝ่ายตรงข้าม หรือที่ไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่ และก็เคยมีพระสงฆ์ใหญ่บางองค์ได้ยินยอมเป็นเครื่องมือของนักการเมืองสมัยนั้น เทศน์ไปตามความต้องการของผู้ยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งได้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นไปแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียง ของทางราชการระหว่างที่นั่งรถไปกับผู้รับมอบหน้าที่มานิมนต์ และรับนโยบายมาชี้แจงด้วยผู้นั้นได้พร่ำแนะกับพระองค์ท่านไปในรถว่า ให้เทศน์อย่างนั้น ๆ ตามแนวนั้น ๆ พระองค์ทรงนิ่งฟังจนจบแล้วกล่าวสั้น ๆ ว่า “นี่มึงเทศน์เองหรือจะให้กูเทศน์” ทรงตรัสสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกล้ำ ผู้แนะแนวทางเงียบกริบ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปแสดงตามแนวธรรมของพระองค์ ไม่ใช่แนวที่คนสู่รู้มาอวดสอนและชักจูงไปในทางที่มิชอบด้วยสมณสารูป

พระอวสานกาล
ต่อมาพระองค์ทรงประชวรพระโรคชรากระเสาะกระแสะอยู่เรื่อย ๆ แต่เพราะพระองค์มีพระทัยเข้มแข็งยิ่งนัก ประกอบด้วยได้แพทย์ผู้สามารถถวายการพยาบาล จึงมีพระอาการคงอยู่ได้ตลอดมาจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2487 ได้เริ่มประชวรเพราะโรคเดิมอีก แพทย์ได้ถวายการพยาบาลจนสุดความสามารถ พระอาการโรคได้ทรุดหนักลงทุกวันจนถึงวันที่ 26 เดือนเดียวกัน ก็ได้เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์ลงเมื่อเวลา 3.00 นาฬิกา ที่ตำหนักวัดสุทัศน์เทพวราราม สิริพระชนมายุ 89 โดยมีพระพรรษา 66 ทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกได้ 7 พรรษา

ได้รับพระราชทานน้ำสรงพระศพและโกศพระลองกุดั่นน้อยประดับพุ่มและเฟื่อง เครื่องสูง 5 ชั้น เครื่องประโคมสังข์แตร จ่าปี่ จ่ากลอง และกลองชนะ มีพระพิธีธรรมสวดอภิธรรมประจำพระศพและรับพระราชทานฉัน 15 วัน ประดิษฐานพระศพ ณ ตำหนักที่สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ ทุกกระทรวงทบวงกรม มีกำหนด 15 วัน แล้วทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในสัตตวารที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนพระลองกุดั่นน้อย เป็น พระลองกุดั่นใหญ่ และจัดการพระราชทานเพลิงพระศพเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาศ เมื่อวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488ฯ

ยงกิญจิ สมุททยธมมํ สพพนตํ นิโรธธมมํ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
สิ่งอันใดที่ได้เกิดกำหนดขึ้น จะยั่งยืนค้ำฟ้าก็หาไม่
เกิดมาแล้วย่อมดับลับลงไป เป็นกฎในธรรมดามาช้านาน ฯ




เนื้อหาเพิ่มเติมพิเศษ

การแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นภาษาไทย
ความต่อไปนี้คัดลอกจาก http://www.heritage.thaigov.net/religion/tripitok/tripitok.htm
การแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ได้กระทำกันมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดแปลไว้เป็นจำนวนมาก ในรัชสมัยต่อ ๆ มา การแปลก็ยังคงดำเนินไปเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่จะแปลพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกมีน้อย สำนวนโวหารในการแปลก็ผิดกันมาก เพราะต่างยุคต่างสมัย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) วัดสุทัศน์เทพวราราม ทรงปรารภว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ผู้ใคร่ศึกษาต้องรู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง จึงจะศึกษาได้สมประสงค์ แม้มีผู้รู้แปลสู่ภาษาไทยอยู่บ้าง ก็เลือกแปลเฉพาะบางตอน ไม่ตลอดเรื่อง ถ้าสามารถแปลจบครบบริบูรณ์ ก็จะเป็นอุปการคุณแก่ พุทธบริษัทชาวไทยอย่างใหญ่หลวง ในต่างประเทศ ได้มีนักปราชญ์อุตสาหะแปลบาลีพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ออกเป็นภาษาของเขาแล้ว สำหรับฝ่ายมหายานนั้น ได้มีการแปลพระไตรปิฎก จากฉบับภาษาสันสกฤต ออกเป็นภาษาของชาวประเทศที่นับถือลัทธิมหายาน มาแล้วช้านาน การที่นักปราชญ์ดังกล่าวจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาของเขา ก็ด้วยเห็นประโยชน์ที่มหาชนชาวประเทศนั้น ๆ จะพึงได้รับการศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ จึงเป็นการสมควรด้วยประการทั้งปวง ที่จะคิดจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยให้ตลอดสาย จะเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ และประเทศไทยให้ปรากฎไปในนานาประเทศ แต่เนื่องด้วยการนี้เป็นการใหญ่ เกินวิสัยที่เอกชนคนสามัญจะทำให้สำเร็จได้ จึงขอให้กระทรวงธรรมการ นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้รับการจัดแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถวายให้สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานในการนี้ ให้กรมธรรมการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคฤหัสถ์ จัดพิมพ์ พระไตรปิฎกเป็นสมุดตีพิมพ์และลงในใบลาน เพื่อเผยแพร่แก่พุทธบริษัทสืบไป

คณะกรรมการแปลพระไตรปิฎก เริ่มดำเนินการแปลตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยแบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ

๑. แปลโดยอรรถ ตามความในบาลีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ สำหรับพิมพ์เป็นเล่มสมุด เรียกว่า "พระไตรปิฎกภาษาไทย"
๒. แปลโดยสำนวนเทศนา สำหรับพิมพ์ลงใบลาน เป็นคัมภีร์เทศนา เรียกว่า "พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง" แบ่งออกเป็น ๑,๒๕๐ กัณฑ์ โดยถือเกณฑ์พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป เมื่อคราวจตุรงคสันนิบาตในสมัยพุทธกาล เป็นพระวินัยปิฎก ๑๘๒ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก ๑,๐๕๔ กัณฑ์ พระอภิธรรมปิฎก ๑๔ กัณฑ์ พิมพ์ลงใบลานเสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒

มูลเหตุที่ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์
ความต่อไปนี้คัดลอกจาก http://www.tumnan.com/pare/pare's%20history.htm

มูลเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น

ทรงเล่าว่า เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ์ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ และครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเสด็จมาเยี่ยม เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า “เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปกติ พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯ ทูลว่าพระกริ่งที่กุฎิมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้าจึงรับสั่งให้นำมาแล้วอาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปกติ

ข้าพเจ้าทูลถามว่า พระกริ่งที่อาราธนาขอน้ำพระพุทธมนต์นั้นเป็นพระกริ่งสมัยไหน พระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นพระกิ่งเก่าหรือไม่ก็คงเป็นพระกริ่งของสมเด็จกรมระยาปวเรศฯ องค์ใดองค์หนึ่ง

ตั่งแต่นั้นมา พระองค์ก็เริ่มสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งขึ้นเป็นลำดับ ค้นหาประวัติการสร้างพระกริ่งและก็ได้เค้าว่า การสร้างพระกริ่งนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว เริ่มที่ประเทศทิเบตก่อน ต่อมาก็ประเทศจีนและประเทศเขมรเป็นลำดับ

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก