หน้าหลัก ศาสนพิธี พิธีกรรมทางศาสนา บุญพิธี
Search:

"พิธีกรรมทางศาสนานั้น เปรียบเสมือนเปลือกของต้นไม้ ต้นไม้ที่ปราศจากเปลือกห่อหุ้ม ย่ิอมไม่สามารถยืนต้นอยู่ได้"


หน้าแรก : หมวดศาสนพิธี
พิธีกรรมทางศาสนา
พิธีกรรมทางพุทธศาสนาแยกไว้เป็น ๔ หมวด คือ
๑. หมวดกุศลพิธี : ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล ๓. หมวดทานพิธี : ว่าด้วยพิธีถวายทาน
๒. หมวดบุญพิธี : ว่าด้วยพิธีทำบุญ ๔. หมวดปกิณณกะ : ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ด

บุญพิธี คือพิธีทำบุญ ให้เกิดความสุขความสบายใจ เกี่ยวกับเรื่องฉลองบ้าง เรื่องต้องการสิริมงคลบ้าง เรื่องตายบ้าง โดยแยกเป็น ๒ ประเภท คือ :-
      ๑. ทำบุญงานมงคล
      ๒. ทำบุญงานอวมงคล

บุญพิธีทั้ง ๒ ประเภทนี้ นิยมการนิมนต์พระให้สวด เลี้ยงพระและถวายไทยธรรม ฉะนั้น จึงมีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ เป็น ๒ ฝ่าย คือ
      ๑. ผู้ทำบุญ เรียกว่า "เจ้าภาพ" เป็นฝ่ายให้.
      ๒. ผู้ประกอบพิธีกรรม เรียกว่า "ฝ่ายภิกษุสงฆ์" เป็นฝ่ายรับ
      ดังนั้น จึงต้องมีระเบียบพิธีตามสมควรแก่ประเภทนั้น ๆ ต่อไปนี้ :-

ทำบุญงานมงคล

ฝ่ายเจ้าภาพต้องเตรียมการต่าง ๆ ดังนี้

      ๑. อาราธนาพระสงฆ์ นิยมคี่ คือ ๕-๗-๙, ถ้าแต่งงาน นิยมคู่ คือ ๘, พิธีหลวงนิยมคู่ คือ ๑๐ รูป เป็นต้น.

      ๒. เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูป พร้อมทั้งเครื่องบูชา ควรใช้โต๊ะหมู่ ๕-๗-๙ ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้โต๊ะอื่นที่สมควรก็ได้ ควรปูผ้าขาว หรือผ้าสี ที่สะอาด ยังไม่เคยใช้เป็นดีที่สุด อย่าเอาผ้าที่นุ่งห่มแล้วปูโต๊ะบูชาเป็น อันขาด.

      ของบนโต๊ะบูชา คือ พระพุทธรูป ๑ กระถางรูป ๑ เชิงเทียน ๒ แจกันดอกไม้บูชา ๒ จะเพื่ออะไรที่สมควรให้มากไปกว่านี้ก็ได้. จะตั้งพระพุทธรูป ควรให้อยู่ทางขวาของพระสงฆ์ หันพระพักตร์ไปทิศเดียวกับพระสงฆ์หันหน้าไป. แต่ถ้าที่ไม่อำนวย ก็จัดตามความเหมาะสม.

      ๓. ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี ต้องให้สะอาดเรียบร้อย ดูแลงามตา ชื่นใจ เป็นสิริมงคล.

      ๔. วงด้ายสายสิญจน์. สิญจน์ แปลว่า "รดน้ำ" สายสิญจน์ คือสายด้ายดิบ จับให้เป็น ๓ เส้น แล้วจับให้เป็น ๙ เส้น.
การวงสายสิญจน์ โยงจากฐานพระพุทธรูป วนขวารอบพระพุทธรูป โยงมาที่หม้อน้ำมนต์ วนขวาที่หม้อ
วางไว้ในพาน ตั้งใกล้อาสนะพระเถระผู้เป็นประธานในพิธี. (ห้ามข้ามสายสิญจน์)

      ๕. เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนโต๊ะบูชา ควรสรงน้ำพระพุทธรูปให้หมดฝุ่นมลทินที่อาจติดอยู่ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนโต๊ะที่เตรียมไว้ แล้วกราบงาม ๓ ครั้ง.

      ๖. ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ จะยกพื้นให้สูงขึ้นขนาดเก้าอี้หรือไม่ยกพื้น เพียงแต่ปูเสื่อ ปูผ้าขาว แล้วปูผ้านิสีทนะ (ผ้ารองนั่งของพระ) แล้วแต่ความเหมาะสม. ต้องให้ที่พระนั่งสูงกว่าที่นั่งของคฤหัสถ์ ถ้าเสมอกัน ต้องแยก อย่าให้ติดกัน.

      ๗. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ คือ หมากพลู น้ำเย็น น้ำร้อนและกระโถน วางไว้ด้านขวาของพระทุกรูป (พานหมากพลู กระโถนวางระหว่างกลาง ๒ รูปต่อ ๑ ชุดก็ได้) การวาง ให้วางกระโถนข้างในสุด ถัดออกมา ภาชนะน้ำเย็น, ถัดออกมา พานหมากพลู. น้ำร้อนจัด ประเคนภายหลัง.

      ๘. ตั้งภาชนะทำน้ำพุทธมนต์ ใช้หม้อน้ำมนต์มีฝาครอบ เรียกว่า "ครอบน้ำมนต์") หรือบาตร หรือขันทองเหลือง (เว้นขันเงิน-ทองคำ) มีพานรอง น้ำที่ใช้ทำน้ำพุทธมนต์ นิยมน้ำที่ได้มาจากดิน(ไม่นิยมน้ำฝน) ใส่ประมาณค่อยภาชนะ เทียนทำน้ำพุทธมนต์ ใช้เทียนขี้ผึ้งแท้ขนาดหนัก ๑ บาทอย่างต่ำ เตรียมตั้งไว้หน้าโต๊ะบูชา เยื้องมาให้ใกล้พระสงฆ์องค์ที่ ๑

      ๙. การจุดเทียน - ธูป เมื่อเริ่มพิธี เจ้าภาพควรจุดเทียน - ธูปเอง. (อย่าต่อไฟจากตะเกียงหรือจากที่อื่น) ตั้งใจบูชาพระ. อาราธาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร.
      พระสวดถึงบทว่า "อเสวนา จ พาลาน" เป็นต้น เจ้าภาพจุดเทียนที่ครอบน้ำมนต์ แล้วยกครอบประเคนพระองค์ที่ ๑.

      ๑๐. ข้อปฏิบัติวันเลี้ยงพระ ถ้าสวดและฉันเช้าหรือฉันเพลด้วยหากมีการตักบาตร พอพระสวดถึงบทว่า "พาหุ" ก็เริ่มตักบาตรแล้วยกบาตรและภัตตาหารมาตั้งไว้ใกล้พระ พอสวดจบ ก็ประเคนให้พระฉันทันที. ถ้าสวดตอนเย็นเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้น. ก็ต้องเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์เหมือนวันสวนมนต์เย็น. อาราธนาศีล รับศีล. ไม่ต้องอาราธนาพระปริตร.
      พระสวดถวายพรพระ (นโม, อิติปิ โส, พาหุ) พอถึงบท พาหุ ก็เริ่มตักบาตร. . .

      ๑๑. สุดท้าย พอพระฉันเสร็จ เจ้าภาพถวายไทยธรรม. พระสงฆ์อนุโมทนา
      เริ่มคำว่า ยถา. . . เจ้าภาพกรวดน้ำ.
      พอพระว่าพร้อมกันว่า สพฺพีติโย. . . เจ้าภาพกรวดน้ำให้หมด
      ประนมมือรับพรจน พระสวนจบ แล้วกราบ ๓ ครั้ง ส่งพระกลับ.

อนึ่ง ในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ นิยมถวายข้าวพระพุทธ คือจัดภัตตาหารทุกอย่าง เหมือนที่ถวายพระสงฆ์ แต่ใช้ภาชนะเล็กกว่า วางบนโต๊ะ หรือบนผ้าขาวสะอาด หน้าโต๊ะบูชา จุดธูป ๓ ดอกปักในกระถางธูปหน้าพระ นั่งคุกเข่า ประนมมือว่า นโม. . .๓ จบ แล้วว่า
      อิม สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺน สาลีน (ถ้าไม่มีข้าวสาลี ก็ตัดบทว่า สาลีนออกได้) โอทน อุทก วร พุทฺธสฺส ปูเชมิ.

      เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ เจ้าภาพกราบพระพุทธ ๓ ครั้ง ประนมมือกล่าวคำลาข้าวพระว่า
      เสส มงฺคล ยาจามิ.

      กราบแล้วยกภาชนะข้าวพระพุทธออกไป. (จะให้ผู้อื่นลาข้าวพระก็ได้)


ฝ่ายพระสงฆ์

      พระสงฆ์ควรปฏิบัติการต่อไปนี้ :-
      ๑. ควรเตรียมตัวไว้ให้พร้อมก่อนถึงเวลา พอมีคนมารับก็ไปได้ทันที. ควรไปตามกำหนด อย่าให้ก่อนมากนัก อย่าให้กระชั้นนัก ต้องมีกาลัญญุตา

      ๒. ต้องนุ่งห่มเรียบร้อยเป็นสมณสารูป. ในถิ่นที่นิยมใช้พัด ควรนำไปทุกรูป และควรใช้พัดงานมงคล (ห้ามใช้พัดงานศพ ในงานมงคล)ถ้าขัดข้องก็ใช้พัดเฉพาะหัวหน้าองค์เดียวก็ได้. พัดนั้นใช้ในเวลา ๑. ให้ศีล ๒. ขัดตำนาน ๓. อนุโมทนา ๔. ชักผ้าบังสุกุล.

      ๓. ขณะขึ้นนั่งบนอาสนะ อย่าเหยียบผ้าขาวที่ปูไว้ ควรคุกเข่าเดินเข่าไปยังที่นั่ง, ย่ามต้องถือด้วยมือซ้ายรวมกันพัด (อย่าเอาย่ามคล้อง แขน ตั้งแต่เข้าบ้าน จนออกไป) วางพัดด้านขวามือ.

      ๔. พอเจ้าภาพอาราธนาศีล ผู้หัวหน้าคลี่สายสิญจน์ส่งต่อไปปลายแถว, พออาราธนาถึงวาระที่ ๓ ว่า ตติยมฺปิ . . . ผู้หัวหน้าตั้งพัดด้วยมือขวา ถัดใบพัดลงมา ๔-๕ นิ้ว หัวแม่มือทาบตรงขึ้นตามด้ามพัดสายสิญจน์พาดบนนิ้วชี้ พอจบคำอาราธนา ก็ตั้ง นโม. . . ให้สรณะ และศีล. ไม่ต้องว่า "ติสรณคมน นิฏฺิต)

      ๕. พอเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรถึงครั้งที่ ๓ พระผู้มีขัดตำนาน(รูปที่ ๓) ตั้งพัดเตรียมขัด พออาราธนาจบ ก็เริ่มขัด สมนฺตา. . .ทันที. พอขัดจบ ทุกรูปยกสายสิญจน์ประนมมือ ให้สายสิญจน์อยู่ระหว่างง่ามแม่มือ. หัวหน้านำสวด ตั้งแต่ นโม. . . พอสวดถึงบทว่า เยสุปฺปยุตฺตา. . . ปลดเทียนน้ำมนต์ หยดเทียนลงในน้ำ พอถึงบทว่านิพฺพนฺติ ธีตา ยถา ยมฺปทีโป ก็จุ่มเทียนลงในน้ำมนต์และยกขึ้น (นิพฺ จุ่มลง. . .ปทีโป ยกขึ้น)

      ๖. การพรมน้ำพระพุทธมนต์ นิยมใช้หญ้าคามัดเป็นกำ, หรือก้านระยม ๗ ก้าน มัดติดกัน. พรมแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าภาพที่ต้องการให้พรม หรือพรมแก่สถานที่ ซึ่งเจ้าภาพต้องการ. (พระสงฆ์สวดบทว่าชยนฺโต. . .ในขณะพรม.) ถ้าเดินพรมแก่บุคคลหรือสถานที่ ควรถือพัดไปด้วย.

[กลับขึ้นบน]
ทำบุญงานอวมงคล
การทำบุญงานอวมงคล หมายถึง การทำบุญเกี่ยวกับเรื่องการตาย มี ๒ อย่าง คือ :-
      ก. งานทำบุญหน้าศพ
          ที่เรียกว่า "ทำบุญ ๗ วัน" . .๕๐ วัน . . ๑๐๐ วัน หรือ ทำบุญหน้าวันปลงศพ.
      ข. งานทำบุญอัฐิ
          ที่ปรารภบรรพบุรุษ หรือผู้ใดผู้หนึ่งที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นงานประจำปี เช่น วันสงกรานต์ (เดือน ๕),
          วันสารท(เดือน ๑๐) หรือวันคล้ายกันวันตายของผู้นั้น ๆ.

ก. งานทำบุญหน้าศพ
      พิธีฝ่ายเจ้าภาพ
      ต้องเตรียมการต่าง ๆ ส่วนใหญ่คล้ายกับงานทำบุญมงคล แต่มีข้อแตกต่าง คือ :-
      ๑. อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ นิยมคู่ คือ ๘ รูป ๑๐ รูป เป็นต้น แล้วแต่กรณี. ใช้คำอาราธนาว่า "ขออาราธนาสวดพระพุทธมนต์" (งานมงคลใช้คำว่า "ขออาราธนาเจริญพระพุทธมนต์")

      ๒. ไม่ตั้งภาชนะน้ำพุทธมนต์ ไม่วงสายสิญจน์ คือไม่ต้องทำน้ำพระพุทธมนต์.

      ๓. เตรียมสายโยงหรือภูษาโยงต่อจากศพไว้ สายโยง คือด้วยสายสิญจน์นั่นเอง.
      ภูษาโยง คือ แผ่นผ้า กว้างประมาณ ๔ นิ้ว ยาวให้พอตั้งแต่พระองค์ต้นแถว ถึงองค์ปลายแถว และต้องมีสายโยงจากศพมาเชื่อมกับภูษาโยงอีก. ระวังการเดินสายโยง อย่าให้สูงกว่าพระพุทธรูปในพิธี และอย่าให้ต่ำกว่าที่คนนั่ง อย่าข้ามสายโยงหรือภูษาโยง เพราะต่อเนื่องด้วยศพ สำหรับพระจับบังสุกุล.
      การปฏิบัติกิจในพิธี เมื่อพระสงฆ์ประจำที่พร้อมแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่บูชาพระพุทธรูปก่อน จุดธูปเทียนที่หน้าศพภายหลัง. (แต่ บางท่านว่า จุดที่หน้าศพก่อน จุดที่หน้าพระทีหลัง)
      ถ้ามีการเลี้ยงพระด้วย พอพระฉันเสร็จ เจ้าภาพถวายไทยธรรมแล้วคลี่สายโยง ถ้ามีผ้าสบง จีวร เป็นต้น ก็ทอดลงบนสายโยง แล้วนั่งประจำที่ พอพระชักบังสุกุล ก็ประนมมือไหว้. เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายต่อไป.

      พิธีฝ่ายพระสงฆ์
      เตรียมตัวและปฏิบัติการส่วนใหญ่ก็เหมือนงานทำบุญมงคล แต่มีข้อแตกต่าง คือ :-
      ๑. ใช้พัดที่เกี่ยวกับงานศพ. (ถ้าไม่มี จะใช้พัดงานอื่นก็ได้).

      ๒. ทำบุญงานศพ ๗ วัน สวดอนัตตลักขณสูตร.
          ทำบุญงานศพ ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร.
          ทำบุญงานศพ ๑๐๐ วัน สวดธรรมนิยามสูตร.
          นอกจาก ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน สวดสูตรใดก็ได้ (เว้นเจ็ดตำนาน, สิบสองตำนาน, ธรรมจักร, มหาสมัย).

      ๓. ไม่ต้องขัด สมนฺตา. . . สคฺเค. . . มีลำดับสวดคือ :- นโม. . .พุทฺธ. . . ยกปิ เสลา . . . (องค์ที่ ๓ ขัด ตั้งพัด ขัดบทขัดของสูตรที่ต้องการ) ทุกรูปสวดพระสูตรที่ต้องการ จบพระสูตรแล้ว ต่อด้วย อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา. . . ยทา หเว . . . อตีต นานฺวาคเมยฺย. . . ถ้าสวดธรรมนิยามสูตร จบแล้ว ต่อด้วย สพฺเพ สงฺขารา. . .แล้ว ต่อด้วย อวิชฺชา. . .

      ๔. ถ้างานวันเดียว มีเทศน์ด้วย เลี้ยงพระด้วย สวด อตีต นานฺวาคเมยฺย. . . จบแล้ว เทศน์. เทศน์จบแล้ว สวดถวายพรพระ (อิติปิ โส . . .พาหุ. . .ชยนฺโต. . .) ภวตุ สพฺพมงฺคล. . .

      ๕. ถ้าเพียงแต่สวดมนต์ บังสุกุล รับไทยธรรมแล้ว อนุโมทนาด้วยบท อทาสิ เม. . .

      ๖. การชักบังสุกุล ต้องจับพัดมือซ้าย, จับสายโยงมือขวา สอดสีนิ้วใต้สาย หัวแม่มือจับบนสาย, ถ้ามีผ้าทอดบนสายโยง ก็จับผ้าโดยวิธีเดียวกัน. ลั่นวาจาว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา. . .

ข. งานทำบุญอัฐิ
      พิธีฝ่ายเจ้าภาพ
      พึงเตรียมงานส่วนใหญ่คล้ายกับงานทำบุญหน้าศพ. เพียงแต่ตั้งโกศอัฐิ หรือรูป หรือชื่อของผู้ตายบนโต๊ะ ต่างหากจากโต๊ะบูชาพระ จัดดอกไม้ประดับ ตั้งกระถางธูป เชิงเทียน ๑ คู่ หรือใช้กระบะเครื่องห้าแทนกระถางธูปเชิงเทียนก็ได้.

      พิธีฝ่ายพระสงฆ์
      ส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกับงานทำบุญหน้าศพ. เพียงแต่บทสวด นิยมสวด ธรรมนิยามสูตร สติปัฏฐานปาฐะ เป็นต้น.

[กลับขึ้นบน]


      แบบประกอบนักธรรมตรี - ศาสนพิธี เล่ม ๑ : หลักสูตรศึกษา นักธรรมชั้นตรี
      แบบประกอบนักธรรมตรี - ศาสนพิธีสังเขป : หลักสูตรศึกษา นักธรรมชั้นตรี
      แบบประกอบนักธรรมโท - ศาสนพิธี เล่ม ๒ : หลักสูตรศึกษา นักธรรมชั้นโท


   โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
การบวชและพิธีกรรมทางศาสนา คลิกฟัง
   โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
พุทธศาสนาเกิดขึ้นมา มิใช่ว่าพิธีกรรมจะไร้ความหมาย คลิกฟัง
ถ้าไม่ถือแบบงมงาย ก็อาจใช้พิธีกรรมมาสื่อธรรมให้ถึงคน คลิกฟัง
   โดย พระอาจารย์รูปอื่น ๆ
 

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก