หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอัครสาวก
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
อัครสาวก แปลว่า สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยม หมายถึง พระสารีบุตร (เป็นอัครสาวกเบื้องขวา) และพระมหาโมคคัลลานะ (เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย)

อีกนัยหนึ่ง
คำว่า "อัคร" มีความหมายถึง "ตุลา" แปลว่า ตราชู, ประมาณ, เกณฑ์วัด, มาตรฐาน, ตัวแบบ, แบบอย่าง
สาวกหรือสาวิกา ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่าเป็นตราชู หรือเป็นแบบอย่างในพุทธบริษัทนั้นๆ อันสาวกและสาวิกาทั้งหลาย ควรใฝ่ปรารถนาจะดำเนินตาม หรือจะเป็นให้ได้ให้เหมือน คือ
      ๑. ตุลา สำหรับภิกษุสาวกทั้งหลาย ได้แก่ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ
      ๒. ตุลา สำหรับภิกษุณีสาวิกาทั้งหลาย ได้แก่ พระเขมา และพระอุบลวรรณา
      ๓. ตุลา สำหรับอุบาสกสาวกทั้งหลาย ได้แก่ จิตตคฤหบดี และหัตถกะอาฬวกะ
      ๔. ตุลา สำหรับอุบาสิกาสาวิกาทั้งหลาย ได้แก่ ขุชชุตตราอุปาสิกา และเวฬุกัณฏกี นันทมารดา

พระสาวกและพระสาวิกา ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่าเป็น “ตุลา” นี้ ในที่ทั่วไปมักเรียกกันว่า พระอัครสาวกและพระอัครสาวิกา เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าเองไม่ทรงใช้คำเรียกว่า “อัครสาวก” เป็นต้นนั้น โดยตรง แม้ว่าคำว่า “อัครสาวก” นั้นจะสืบเนื่องมาจากพระดำรัสครั้งแรกที่ตรัสถึงพระเถระทั้งสองท่านนั้น คือ เมื่อพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ ออกจากสำนักของสัญชัยปริพาชกแล้ว นำปริพาชก ๒๕๐ คน มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเวฬุวัน ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นทั้งสองท่านนั้นกำลังเข้ามาแต่ไกล ก็ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า (วินย.๔/๗๑/๗๗) “ภิกษุทั้งหลาย สหายสองคนที่มานั่น คือ โกลิตะ และอุปติสสะ จักเป็นคู่สาวกของเรา เป็นคู่ที่ดีเลิศ ยอดเยี่ยม (สาวกยุคํ ภวิสฺสติ อคฺคํ ภทฺทยุคํ)”, คำเรียกท่านผู้เป็น ตุลา ว่าเป็น “อัคร” ในพระไตรปิฎก ครบทั้ง ๔ คู่ มีแต่ในพุทธวงส์ โดยเฉพาะโคตมพุทธวงส์ (ขุ.พุทธ.๓๓/๒๐๖/๕๔๕) กล่าวคือ
      ๑. อัครสาวก ได้แก่ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ
      ๒. อัครสาวิกา ได้แก่ พระเขมา และพระอุบลวรรณา
      ๓. อัครอุปัฏฺฐากอุบาสก ได้แก่ จิตตะ (คือ จิตตคฤหบดี) และหัตถาฬวกะ (คือ หัตถกะอาฬวกะ)
      ๔. อัครอุปัฏฺฐิกาอุบาสิกา ได้แก่ (เวฬุกัณฏกี) นันทมารดา และอุตตรา (คือขุชชุตตรา)

อัครอุปัฏฺฐากอุบาสกนั้น ในอปทานแห่งหนึ่ง (ขุ.อป.๓๓/๗๙/๑๑๗) และในอรรถกถาธรรมบทแห่งหนึ่ง เรียกสั้นๆว่า อัครอุบาสก และอัครอุปัฏฺฐิกาอุบาสิกา เรียสั้นๆ ว่า อัครอุบาสิกา(แต่ในที่นั้น อรรถกถาธรรมบท ฉบับอักษรไทยบางฉบับ, ธ.อ.๓/๗ เรียกเป็นอัครสาวก และอัครสาวิกา เหมือนอย่างในภิกษุและภิกษุณีบริษัท ทั้งนี้ น่าจะเป็นความผิดพลาดในการตรวจชำระ)

พระสาวกสาวิกาที่เป็น “อัคร” นั้นแทบทุกท่านเป็นเอตทัคคะในด้านใดด้านหนึ่งด้วย คือ พระสารีบุตร เป็นเอตทัคคะทางมีปัญญามาก, พระมหาโมคคัลลานะ เป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์, พระเขมา เป็นเอตทัคคะทางมีปัญญามาก, พระอุบลวรรณา เป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์, จิตตคฤหบดีซึ่งเป็นอนาคามี เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นธรรมกถึก, หัตถกะอาฬวกะ ซึ่งเป็นอนาคามี เป็นเอตทัคคะทางสงเคราะห์บริษัท คือชุมชนด้วยสังคหวัตถุสี่, ขุชชุตตรา ซึ่งเป็นโสดาบัน ผู้ได้บรรลุปฏิสัมภิทา (ได้เสขปฏิสัมภิทา คือปฏิสัมภิทาของพระเสขะ) เป็นเอตทัคคะในด้านเป็นพหูสูต

เว้นแต่เวฬุกัณฏกีนันทมารดา (เป็นอนาคามินี) ที่น่าแปลกว่าไม่ปรากฏในรายนามเอตทัคคะซึ่งมีชื่อนันทมารดาด้วย แต่เป็นอุตตรานันทมารดา ที่เป็นเอตทัคคะในทางชำนาญฌาน (และทำให้ยังสงสัยกันว่า“นันทมารดา” สองท่านนี้ แท้จริงแล้ว จะเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่)

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่ง “อัคร” ที่ยอมรับและเรียกขานกันทั่วไปอีก ๒ อย่าง คือ อัครอุปัฏฐาก ผู้เฝ้ารับใช้พระพุทธเจ้าอย่างเยี่ยมยอด ได้แก่พระอานนท์ (“อัครอุปัฏฐาก” เป็นคำที่ใช้แก่พระอานนท์ ตั้งแต่ในพระไตรปิฎก,ที. ม.๑๐/๕๕/๖๐; พระอานนท์เป็นเอตทัคคะถึง ๕ ด้าน คือ ด้านพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก) และอัครอุปัฏฐายิกา คือ อุบาสิกาผู้ดูแลอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธเจ้าอย่างเยี่ยมยอด ได้แก่ วิสาขามหาอุบาสิกา (นางวิสาขาซึ่งเป็นโสดาบัน เป็นเอตทัคคะผู้ยอดแห่งทายิกา คู่กับอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งก็เป็นโสดาบัน และเป็นเอตทัคคะผู้ยอดแห่งทายก, แต่พบในอรรถกถาแห่งหนึ่ง, อุ.อ.๑๘/๑๒๗, จัดเจ้าหญิงสุปปวาสา โกลิยราชธิดา ซึ่งเป็นเอตทัคคะผู้ยอดแห่งประณีตทายิกา ว่าเป็นอัครอุปัฏฺฐายิกา)

สรุปรายนามพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า
๑. อัครสาวก ได้แก่ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ
๒. อัครสาวิกา ได้แก่ พระเขมา และพระอุบลวรรณา
๓. อัครอุปัฏฺฐากอุบาสก ได้แก่ จิตตะ (คือ จิตตคฤหบดี) และหัตถาฬวกะ (คือ หัตถกะอาฬวกะ)
๔. อัครอุปัฏฺฐิกาอุบาสิกา ได้แก่ (เวฬุกัณฏกี) นันทมารดา และอุตตรา (คือขุชชุตตรา)
๕. อัครอุปัฏฺฐาก (ฝ่ายสงฆ์) ได้แก่ พระอานนท์
๖. อัครอุปัฏฺฐาก (ฝ่ายคฤหัสถ์) ได้แก่ วิสาขามหาอุบาสิกา และอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก