หน้าหลัก พระสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชของไทย พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์
พระองค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระองค์ที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
พระองค์ที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๑๒ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)
พระองค์ที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑๓ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พระองค์ที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระองค์ที่ ๑๔ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ)
พระองค์ที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย)
พระองค์ที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) พระองค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
พระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
พระองค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระองค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)
พระองค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) พระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ที่ ๑๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)

พระองค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
[ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ]
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
( นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑ )
พระประวัติเบื้องต้น
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) ทรงเป็นชาวสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ตรงกับวันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก เวลา ๒๔ นาฬิกาเศษ ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านบิดาชื่อ เน้า สุขเจริญ ท่านมารดาชื่อ วัน สุขเจริญ ทรงเป็นบุตรคนที่ ๖ ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน

ในเบื้องต้นทรงเล่าเรียนภาษาไทยกับท่านบิดาจนสามารถอ่านหนังสือแบบเรียนเร็ว เล่ม ๑-๒ ได้จบ ต่อมาท่านบิดาจึงพาไปฝากเป็นศิษย์พระอาจารย์หอม วัดสองพี่น้อง ซึ่งเป็นญาติ จากนั้นจึงทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลีอักษรขอม และคัมภีร์มูลกัจจายน์ ที่เรียกกันว่า หนังสือใหญ่ กับพระอาจารย์หอมและพระอาจารย์จ่าง ปุณฺณโชติ ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็น พระครูอุภัยภาดารักษ์ และเมื่อตกเย็น ก็ทรงต่อสวดมนต์กับพระอาจารย์ ที่เรียกว่า ต่อหนังสือค่ำ

พ.ศ. ๒๔๕๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา พระอาจารย์หอมได้พามาฝากเป็นศิษย์อยู่วัดมหาธาตุกับพระอาจารย์ป่วน ผู้เป็นญาติฝ่ายท่านมารดา (ภายหลังย้ายไปอยู่วัดพระเชตุพน ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระครูบริหารบรมธาตุ เป็นเจ้าอาวาสวัดนางชีภาษีเจริญ)

พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ย้ายมาอยู่กับพระอาจารย์สด (ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ณ วัดพระเชตุพน และในปีนั้น ได้ทรงกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง โดยพระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๔๕๖ ต้องทรงลาสิกขาออกไปช่วยครอบครัวทำนาอยู่ระยะหนึ่ง เพราะท่านบิดาป่วย ครั้นพระชนมายุ ๑๘ พรรษา ก็กลับบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงกลับมาอยู่วัดพระเชตุพน เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนต่อ

พ.ศ. ๒๔๖๐ พระชนมายุ ๒๒ พรรษา ทรงกลับอุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง เจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์โหน่ง วัดสองพี่น้อง (ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลดอนมะดัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศากยปุตติยวงศ์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต สุดท้ายได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระวันรัต) วัดพระเชตุพน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๖๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง

ศึกษาพระปริยัติธรรม
เมื่อเข้ามาอยู่วัดพระเชตุพนแล้ว จึงทรงเริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังในสำนักของ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) แต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศากยปุตติยวงศ์ และกับพระมหาปี วสุตฺตโม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา สอบไล่ได้นักธรรมและเปรียญชั้นต่างๆ มาเป็นลำดับ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๕๖ สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ. ศ. ๒๔๕๘ สอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ขณะทรงเป็นสามเณร
พ.ศ. ๒๔๖๒ สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๖๓ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค

นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้วยังทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาภาษาต่างประเทศด้วยเท่าที่จะทรงมีโอกาสศึกษาได้ กล่าวคือ ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับหลวงประสานบรรณวิทย์ และทรงศึกษาภาษาจีนกับนาย กมล มลิทอง

ตำแหน่งหน้าที่ในการคณะสงฆ์
เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ทรงรับภาระหน้าที่ทางการคณะสงฆ์มาแต่ทรงเป็นพระเปรียญ เริ่มแต่หน้าที่ภายในพระอารามไปจนถึงหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ ดังนี้

พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อทรงเป็นเปรียญ ๔ ประโยค ทรงเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นไวยากรณ์
พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อทรงเป็นเปรียญ ๕ ประโยคแล้ว ทรงเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมชั้นประโยค ๓ ทรงทำหน้าที่เป็นครูในสำนักเรียนวัดพระเชตุพนอยู่นานถึง ๒๕ ปี

พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อยังทรงเป็นพระเปรียญเป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยแผนก พระวินัย
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนาและในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระอมรเวที

พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาคบูรพา (สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ (อยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี) เป็นกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัย

พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นสมาชิกสังฆสภา
พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชสุธี
พ.ศ. ๒๔๙๐ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ถึงมรณภาพ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชสุธี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และในคราวเดียวกันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที

พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการและเลขาธิการ ก.ส.พ. (กรรมการสังฆาณัติระเบียบพระคณาธิการ) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมดิลก

พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๒ (สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) เป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก

พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๒)
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นสังฆมนตรี (สมัยที่ ๓)เป็นสังฆมนตรีและสังฆมนตรีสั่งการแทนสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ (สมัยที่ ๔) เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค ๗ (สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์) เป็นประธาน ก.จ.ภ. (กรรมการเจ้าคณะตรวจการภาค) เป็นอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน (ก.อ.ช.)

พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นประธานกรรมการสงฆ์แห่งโรงพยาบาลสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นประธานทอดผ้าป่าวันโรงพยาบาลสงฆ์ โดยทรงริเริ่มในนามสภาพระธรรมกถึก เป็นกรรมการวิทยุกระจายเสียงวันธรรมสวนะ

พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการทำนุบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ (สมัยที่ ๕)

พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นกรรมการ ก.ส.พ. เป็นกรรมการอุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นประธานกรรมการปรับปรุงตลาดเฉลิมโลก
พ.ศ. ๒๕๐๒-๘ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ (สมัยที่ ๖)

พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้รับพระราชทานสถาปนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัตเป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรม แผนกบาลี

พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งประกาศใช้แทน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๗

พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรักษาการในตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนเหนือ และหนใต้ เป็นกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์

พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นแม่กองงานพระธรรมทูต
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในระหว่างที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชเสด็จเยือนศรีลังกาเป็นทางการ ะรหว่างวันที่ ๑๐ - ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ เป็นประธานจิตตภาวันวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเจ้าคณะนครหลวง กรุงเทพธนบุรี
พ.ศ. ๒๕๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม นับเป็นพระองค์ที่ ๑๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

ภูมิพลอดุลยเดช ปร.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราซ บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรตกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยทื่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆฑรณายก ได้ว่างลง เป็นการสมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพื่อจักได้บริหารการพระศาสนา ให้สมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ และตามระเบียบราชประเพณีสืบไป และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูล ของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันทมติ

จึงทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระวันรัต เป็นพระมหาเถระ เจริญในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล ดั่งมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภาร ตามความพิสดารในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราซาคณะ มหาสังฆนายก เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔แล้วนั้น

ครั้นต่อมา สมเด็จพระวันรัต ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหวิรยาธิคุณมิได้ท้อถอย สามารถประกอบพุทธศาสนกิจ ยังการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา ในการปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ สมเด็จพระวันรัต ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และเป็น แม่กองงานพระธรรมทูต ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน อนึ่ง ในคราวที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปเยือน ประเทศศรีลังกาเป็นทางราชการ ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลประเทศนั้น สมเด็จพระวันรัต ก็ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เมื่อเดือนกุมภาพันธ์พุทธศักราช ๒๕๑๐

ในการปริยัติศึกษา เป็นกรรมการพิจารณาร่างหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกภาษาบาลี ตั้งแต่ชั้นเปรียญตรีถึงชั้นเปรียญเอก ในฐานะนายกสภาแห่งสภาพระธรรมกถึก ได้จัดตั้งทุนไว้ สำหรับส่งเสริมให้พระภิกษุ ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ ไปศึกษาวิชาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ

เป็นผู้อุปถัมภ์อภิธรรมมูลนิธิวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาพระอภิธรรมแก่ประชาชน และได้จัดสร้างอาคารเรียนขึ้น ๑ หลัง สำหรับใช้เป็นสถานศึกษาพระอภิธรรม ในการปกครองพระอาราม ก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแลระวังรักษา และจัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมปูชนียวัตถุ และสิ่งก่อสร้างในพระอาราม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเสียหาย ทั้งในบริเวณพุทธาวาส และสังฆาวาส ให้กลับคืนดีในสภาพมั่นคงถาวร สะอาดเรียบร้อยดีขึ้นตลอดมา ดังเป็นที่ปรากฏอยู่แล้ว

อนึ่งสมเด็จพระวันรัตไต้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นไว้เป็นทุนถาวรสำหรับบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามเริ่มตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ เป็นต้นมา มูลนิธินี้ ได้รับพระราชทานนามว่า “มูลนิธิทุนพระพุทธยอดฟ้า๑” นับว่าสมเด็จพระวันรัต เป็นผู้ทรงคุณธรรม มีปรีชาสามารถในการปกครองพระอารามหลวงที่สำคัญเป็นอย่างดียิ่ง สมพระราชประสงค์ในการส่งเสริมการศึกษาของชาติ

ในฐานะนายกสภาแห่งสภาพระธรรมกถึก ได้จัดพระภิกษุไปเป็นครูสอนศีลธรรมแก่นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในส่วนกลางตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งถึงปีที่ห้า นอกจากนั้น สมเด็จพระวันรัต ยังได้รับพระมหากรุณา โปรดให้เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กอนาถา ที่วัดศรีจันทรประดิษฐ์ จังหวัดสมุทรปราการ ที่วัดสันติการาม และที่วัดป่าไก่จังหวัดราชบุรี อีกด้วย


ส่วนการพระศาสนาในต่างประเทศสมเด็จพระวันรัต ได้ไปเป็นประธานสงฆ์ในการผูกพัทธสีมา วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศเนปาล เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๙ ไปเป็นประธานสงฆ์ในการผูกพัทธสีมา วัดเชตวัน สหพันธ์มาเลเซีย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ไปเยี่ยมวัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ แล้วเลยไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยมลักเซมเบอร์ก เยอรมนี สวิส และ อิตาลี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทย ไปร่วมงานถวายพระเพลิง พระศพสมเด็จพระสังฆราชแห่งกัมพูชาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ และในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ได้รับอาราธนาจากรัฐบาลอเมริกัน ให้ไปเยือนสหรัฐอเมริกา และสมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขแห่งศาสนาคาทอลิก ได้อาราธนาให้ไปเยือนสำนักวาติกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมสัมพันธไมตรี และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

บัดนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระวันรัต เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษา-ยุกาลรัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม มั่นคงในพระพุทธศาสนา เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต สงเคราะห์พุทธบริษัท ปกครองคณะสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมณศักดื้ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านานได้เป็นครูและอุปัธยาจารย์แห่งมหาชนเป็นอันมาก มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล ตลอดจนอาณาประชาราษฎรทั่วไป สมควรจะสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑลเพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดสถาปนา สมเด็จพระวันรัต ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกกลาสุโกศล วิมลคัมภีรญาณ ปุณณสิริภิธานสังฆวิสุตปาวจนุตตมสิกขวโรปการศีลขันธสมาจารยสุทธิปฏิบัติ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณอดุลธรรมวิสารสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง เป็นประธานในสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดึ่ จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ

ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕รูป คือ พระทักษิณคณาธิกร สุนทรธรรมสาธก พุทธปาพจนดิลกมหาเถรกิจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระอุดรคณา-ภิรักษ์ อัครศาสนกิจบรรหาร มหาเถราธิการธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูธรรมกถาสุนทร ๑ พระครูวินัยกรณ์โสภณ ๑ พระครูพรหมวิหาร พระครูพระปริต ๑ พระครูฌานวิสุทธิ์ พระครูพระปริต ๑ พระครูวินัยธร๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิมนสรภาณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิบูลบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒน์บรรณกิจ ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนั้นมีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพร ในบวรพุทธศาสนาเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

ใบกำกับพระสุพรรณบัฏ
ให้สถาปนา สมเด็จพระวันรัต ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ และให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป คือ พระทักษิณคณาธิกร สุนทรธรรมสาธก พุทธปาพจนดิลกมหาเถรกิจการี คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑ พระอุดรคณาภิรักษ์อัครศาสนกิจบรรหาร มหาเถราธิการธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑ พระครูธรรมกถาสุนทร ๑ พระครูวินัยกรณ์โสภณ ๑ พระครูพรหมวิหาร พระครูพระปริต ๑ พระครูฌานวิสุทธิ์ พระครูพระปริต ๑ พระครูวินัย-ธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพิมลสรภาณ พระคู่สวด ๑ พระครูพิศาลสรคุณ พระครูคู่สวด ๑ พระครูพิบูลบรรณวัตร ๑ พระครูพิพัฒน์บรรณกิจ ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑พระครูใบฎีกา ๑

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสังสอน ช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไปตามสมควรแก่พระอิสริยยศ ซึ่งพระราชทานนี้ และจงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิจิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ

ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปร.

การพระศาสนาต่างประเทศ
ในด้านการพระศาสนาต่างประเทศนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ก็ทรงรับภาระปฏิบัติมาเป็นลำดับ เริ่มแต่ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมดิลก กล่าวคือ

พ.ศ. ๒๔๙๗ ร่วมในคณะผู้แทนแห่งคณะสงฆ์ไทยไปร่วมในการประชุมฉัฏฐสังคายนา ณ ประเทศพม่า และในซกเดียวกันเดินทางไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศกัมพูชา

พ.ศ. ๒๔๙๙ ไปร่วมฉลองพุทธชยันตี (ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ) ณ ประเทศศรีลังกา แล้วเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ในประเทศอินเดีย และแวะสังเกตการณ์ พระศาสนา ณ ประเทศสิงคโปร์

พ.ศ. ๒๕๐๒ ไปร่วมพิธีเปิดวัดไทย ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย
พ.ศ. ๒๕๐๖ ไปเยือนวัดไทยในรัฐเคดาห์ ปินัง ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์
พ.ศ. ๒๕๐๙ ไปเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมาวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย จากนั้นไปสังเกตการณ์พระศาสนา ณ ประเทศเนปาล

พ.ศ. ๒๕๑๐ ไปเป็นประธานผูกพัทธสีมา วัดเชตวัน กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
พ.ศ. ๒๕๑๑ ไปเยือนวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และไปสังเกตการณ์ พระศาสนา ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก เยอรมันนี สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี

พ.ศ. ๒๕๑๕ เสด็จเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำอาราธนาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และในโอกาสเดียวกัน ก็เสด็จเยือนสำนักวาติกัน ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เยือนวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เยือนเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และสเปน

การก่อสร้างปฏิสังขรณ์
ตั้งแต่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นต้นมา การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ในพระอารามสิ้นเงินประมาณ ๒๐ ล้านบาท
สร้างพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ณ วัดสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ ณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
สร้างตึกสันติวัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยทุนส่วนพระองค์ และผู้ที่ถวายในคราวเสด็จเข้ารับการผ่าตัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ รวมเป็นเงิน ๔๐๘,๒๐๐ บาท และยังทรงบริจาคสมทบสร้างตึกศัลยกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ๕๐,๐๐๐ บาท เครื่องทำความเย็นตึกกายภาพบำบัด ๕๐,๐๐๐ บาท เป็นทุนค่าอาหาร ๓๐,๐๐๐ บาท ทุนตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ๒๐,๐๐๐ บาท

สร้างโรงเรียนสมเด็จพระวันรัต ตลาดสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
สร้างหอสมเด็จ วัดวิมลโภคาราม อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

ได้รับพระกรุณาโปรด ให้เป็นประธานสร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กอนาถา วัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ จังหวัดสมุทรปราการ และวัดป่าไก่ จังหวัดราชบุรี

มูลนิธิที่ทรงบริจาคและริเริ่มก่อตั้ง
พ.ศ. ๒๔๙๒ ศึกษานิธิวัดพระเชตุพน
พ.ศ. ๒๕๐๕ มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์ (๑๙,๐๔๑,๒๒๖.๖๒ บาท)
พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นประธานมูลนิธิอภิธรรม มหาธาตุวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๑๒ มูลนิธิสมเด็จพระพุทธโคดม วัดไผ่โรงวัว อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยรับพระราชทานทุนของ นางละมุน บุรกรรมโกวิท ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๑๖๓,๓๗๖.๕๗ บาท)

พ.ศ. ๒๕๑๕ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๗ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (๑๒,๐๐๐.๐๐ บาท)

พ.ศ. ๒๕๑๖ มูลนิธิศูนย์โภชนาการช่วยเหลือเด็กวัยก่อนเรียนอำเภอหางน้ำสาคร จังหวัดชัยนาท โดยทุนทรงบริจาค และของพระภิกษุ พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ อีก ๑๐๐,๐๐๐ บาท (๑๒๕,๙๐๐.๐๐ บาท)

พ.ศ. ๒๕๑๖ มูลนิธิห้องสมุดสันติวัน วัดพระเชตุพน (๑๖๙,๕๐๐.๐๐ บาท)

งานพระนิพนธ์ “สันติวัน” “ศรีวัน”
นอกจากทรงแต่งและเรียบเรียงพระธรรมเทศนาแล้ว โดยที่ทรงสนใจในการประพันธ์มาตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณร โปรดการอ่านหนังสือ และสะสมหนังสือต่างๆ ทั้งเคยทรงเขียนบทความ เกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาลงพิมพ์ ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ในพระนามว่า “ป.ปุณฺณสิริ” ยังทรงนิพนธ์หนังสืออีก ๒๐ กว่าเรื่อง

ประเภทวิชาการ
เมื่อทรงเป็นเลขาธิการ ก.ส.พ. ได้ทรงรวบรวมระเบียบข้อบังคับคณะสงฆ์พิมพ์เป็นเล่ม ชื่อ ประมวลอาณัติคณะสงฆ์

ประเภทสารคดี
บันทึกการเสด็จไปยังที่ต่างๆ คือสู่เมืองอนัตตา พุทธชยันตี เดีย-ปาล สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน และพระนิพนธ์เรื่องสุดท้าย คือ บ่อเกิดแห่งกุศลคือโรงพยาบาล

ประเภทธรรมนิยาย
เช่นจดหมายสองพี่น้องสันติวัน พรสวรรค์ หนี้กรรมหนี้เวร ไอ้ตี๋ ดงอารยะ เกียรติกานดา คุณนายชั้นเอก ความจริงที่มองเห็น ความดีที่น่าสรรเสริญ อภินิหารอาจารย์แก้ว กรรมสมกรรม ในพระนาม สันติวัน หรือ ศรีวัน

นอกจากนี้ ยังได้ทรงเขียนเป็นบทความต่างๆ อีกมาก

พระเกียรติคุณ
สมเด็จพระสังฆราช ทรงเจริญอยู่ในพรหมวิหารธรรม ทรงเป็นครุฐานียอภิปูชนียบุคคล เป็นที่รักเป็นที่เคารพบูชาสักการะอย่างยิ่งแห่งปวงบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทรงได้รับยกย่องพระเกียรติคุณเป็นอย่างสูง มีพระนามเป็นพิเศษว่า “สมเด็จป๋า” พระเครื่องและเหรียญพระรูป ที่ทรงสร้างขึ้นในวาระต่าง ๆ หรือที่มีผู้มาขออนุญาตพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานกุศลปรากฏว่าเป็นที่นิยมกันมาก

๑. พระเครื่อง "สมเด็จแสน" ทรงพิมพ์พระองค์แรกเป็นปฐมฤกษ์ มีจำนวน ๑๗๐,๐๐๐ องค์ แจกในงานบำเพ็ญกุศลพระชนม์ ๗๒ ปี

๒. พระกริ่ง "สมเด็จฟ้าลั่น" และ "สมเด็จฟ้าแจ้ง" (ธรรมจารี) ทรงเททองหล่อในวันคล้ายวันประสูติ พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๖ จำนวน ๑,๗๐๐ องค์

๓. เหรียญพระรูป "เหรียญ ๖๐" "เหรียญ ๗๒" "สมเด็จรอบโลก" "เหรียญทรงฉัตร" ทั้งหมดพิมพ์ประมาณ หกแสนเหรียญ

๔. วัด ส่วนราชการ องค์การกุศล ที่ทรงโปรดอนุญาตให้พิมพ์เหรียญพระรูป เท่าที่รวบรวมได้ ๕๕ แบบพิมพ์ จำนวนประมาณ หนึ่งล้านเหรียญ

๕. เหรียญพระรูปเหรียญสุดท้าย "สมเด็จเพิ่มบารมี" เป็นที่ระลึกในวันครบปีสถาปนา จำนวน หนึ่งแสนเหรียญ

การ ประชวร
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ประชวรหนักเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๙๙ ทรงประสบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ประทับหลบรถโดยสารตกลงไปค้างที่คลองข้างวัดศรีสำราญ ถนนเพชรเกษม ทรงบาดเจ็บเล็กน้อย ประทับรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๒เสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์ โดยปกติเมื่อประชวร พ.ท. นิตย์ เวชชวิศิษฐ์เป็นผู้ถวายการรักษาเป็นประจำ

พ.ศ. ๒๕๑๐ แพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน ทรงได้รับการรักษาจากนายแพทย์ปราโมทย์ ศรศรีวิชัย แห่งเทศบาลกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงทรงกรุณาโปรดให้แพทย์หญิงคุณหญิงศรีจิตรา บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนายแพทย์สิโรตม์ บุนนาค เป็นแพทย์ถวายการรักษาพยาบาลประจำพระองค์ ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๐ และได้เสด็จไปประทับ ณ ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อทรงรับการตรวจเป็นประจำทุก ๆ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ก่อนเสด็จไปต่างประเทศ ก็ทรงได้รับการตรวจพระอาการ ทั่วไป

ต้นเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้เสด็จไปรับการตรวจพระอาการ เมื่อตรวจทางเอ็กซเรย์ ปรากฏว่าพระปับผาสะ (ปอด) ข้างซ้ายผิดปกติ จึงต้องเสด็จไปประทับ ณ ตึกจงกลนี ฯ เพื่อให้คณะแพทย์ตรวจพระอาการโตยละเอียด คณะแพทย์พบว่า ปอดข้างซ้ายเป็นเนื้องอก (มะเร็ง) จำต้องรักษาโดยการผ่าตัดโดยด่วน เมื่อความได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ถวายการรักษา ในทางที่เห็นว่าดีและปลอดภัยมากที่สุด

คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ หลังจากถวายการผ่าตัดแล้วพระอาการดีขึ้นโดยลำดับ จนเสด็จกลับวัดได้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกสามเดือน ตลอดเวลาที่พักอยู่นั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้จัดบุรุษพยาบาลและเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัด มาเฝ้าปฏิบัติและถวายการรักษาเป็นประจำ จนเสด็จประชุมมหาเถรสมาคมและเสด็จไปกิจนิมนต์ได้

ครั้นเดือนสิงหาคม ๒๕๑๖ ทรงมีพระอาการผิดปกติ แพทย์ประจำพระองค์ได้มาถวายการตรวจและถวายยา วันที่ ๒ กันยายน๒๕๑๖ ทรงรู้สึกพระองค์ว่า ต่อไปคงจะเทศน์ไม่ได้อีกแล้ว ความจำไม่ดี แพทย์ประจำพระองค์ได้กราบทูลอาราธนาให้เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาล เพื่อตรวจพระอาการ ทรงกำหนดเสด็จไปวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๖ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ หลังจากทรงทำอุโบสถสังฆกรรมแล้ว

คณะแพทย์ได้ตรวจพระอาการ ปรากฏว่าโรคมะเร็งขึ้นสมองด้านซ้าย จึงทำให้พระวรกายทางซีกขวาอ่อน เคลื่อนไหวไม่ได้ ครั้นเมื่อถวายการรักษาทางยาและฉายรังสีโคบอลท์ พระอาการดีขึ้นจนกระทั่งพระหัตถ์ข้างขวาเคลื่อนไหวได้และทรงอักษรได้บ้าง

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประชวรพระวาโย ต้องเชิญเสด็จประทับห้องฉุกเฉิน ตั้งแต่นั้นมา พระอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด วันที่ ๑๔ตุลาคม ๒๔๑๖ มีพระโลหิตออกจากกระเพาะอาหาร คณะแพทย์ต้องถวายการผ่าตัด เมื่อเวลา๒๓.๐๐ น. หลังจากนั้นพระอาการดีขึ้นเล็กน้อย

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ พระอาการน่าวิตก วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน เวลา ๒๐.๐๐ น. พระอาการทรุดหนักลง ต่อแต่นั้นมา พระอาการมีแต่ทรุดลงเป็นลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๖ เวลา ๒๒.๒๕ น. โดยมีคณะแพทย์ พยาบาล และนายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พระเถรานุเถระ ศิษยานุศิษย์ เฝ้าพระอาการอยู่ตลอดเวลา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ในการรักษาพยาบาลตลอดมา และมีคณะแพทย์กราบบังคมทูลถวายรายงานการประชวรให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทุกระยะ ตั้งแต่ยังทรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต ตราบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ในระหว่างประชวร สมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถ ได้โปรดให้เชิญเครื่องเสวยมาถวายหลายครั้ง

ในการประชวรครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง แม้คณะแพทย์จะได้กราบบังคมทูลถวายรายงานให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาททุกระยะแล้วก็ดี ก็ยังมีพระราชหฤทัยกังวลถึง ได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จเยี่ยม ดังนี้

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๑๖ เวลา ๑๖.๔๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประมาณ ๒๕ นาที

วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๑๗.๒๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประมาณ ๕ นาที

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๑๒.๒๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ฯ ทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประมาณ ๑ ชั่วโมง

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖ เวลา ๑๗.๒๐ น. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประมาณ ๔๐ นาที

สิ้นพระชนม์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มีแถลงการณ์ ในการสิ้นพระชนม์ดังนี้

“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๖ ด้วยพระอาการเวียนพระเศียร ความทรงจำเสื่อม พระวรกายทางซีกขวาอ่อน เคลื่อนไหวไม่ได้ คณะแพทย์ลงความเห็นว่า พระอาการทั่วไปทั้งหมด เนื่องมาจากการที่พระองค์ทรงประชวรเป็นเนื้องอกในปอดข้างซ้าย ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๑๕ และต่อมาได้กระจายไปที่สมอง คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยรังสีโคบอลท์ พระอาการดีขึ้นบ้าง

ต่อมาวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีพระโรคแทรก คือ มีพระโลหิตออกจากกระเพาะอาหาร คณะแพทย์ได้ถวายการผ่าตัดเพื่อระงับมิให้มีการสูญเสียพระโลหิตทางพระลำไส้อีก และถวายการผ่าตัดเพื่อมิให้มีพระอาการขึ้นอีก นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นมา พระอาการทางสมองมากขึ้น จนครึ่งพระวรกายซีกขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ ทรงมีพระอาการไข้ขึ้นสูงตลอดมา ปอดบวม มีพระอาการทั่วไปอ่อนเพลียลงตามลำดับ ในที่สุดสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันศุกร์ ที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๑๖ เวลา ๒๒.๒๕ ด้วยพระอาการอันสงบ”

คณะแพทย์ ได้พยายามเยียวยาถวายการรักษาพระองค์อย่างสุดความสามารถจนถึงสิ้นพระชนม์ ในตอนกลางคืนวันสิ้นพระชนม์ มีพระสงฆ์เข้าเยี่ยมพระอาการประมาณ ๓๐๐ รูปคฤหัสถ์ประมาณ ๒๐๐ คน

การ พระศพ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระศพถวายพระเกียรติตามพระราชประเพณีทุกประการ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ เวลา ๑๖.๐๐น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาถวายน้ำสรงพระศพ ณ ตึกกวี เหวียนระวี แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญพระโกศประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าประกอบพระลองกุดั่นใหญ่ แวดล้อมด้วยเครื่องประดับพระเกียรติยศ ณ หอประชุมสงฆ์ วัดพระเชตุพน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระพิธีพระเกียรติยศ ณ หอประชุมสงฆ์ วัดพระเชตุพน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมทั้งกลางวันกลางคืน รับพระราชทานฉันเช้าวันละ ๘ รูป เพลวันละ ๔ รูป กำหนด ๗ วัน ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย เมื่อครบ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดการพระราชกุศลออกพระเมรุ และพระราชทานเพลิง วันที่ ๒๒-๒๓-๒๔ เมษายน ๒๕๑๗ ในการบำเพ็ญกุศลถวายพระศพนี้ มหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาค คณะรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม สมาคม พ่อค้า ประชาชน ศิษยานุศิษย์ คณะสงฆ์จีน คณะสงฆ์ญวน สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย สมาคมศรีครุสิงห์สภา ฮินดูสมาส ฮินดูธรรมสภา และในต่างประเทศ ก็มีพระภิกษุสงฆ์พร้อมด้วยพุทธบริษัทจากฮ่องกงสิงคโปร์ มาเลเซีย ได้โดยเสด็จพระราชกุศลมาจนถึงวันพระราชทานเพลิงศพ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นองค์ที่ ๑๑ เป็นเวลา ๒๖ ปี ๘ เดือน ๓๐ วัน ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช เปินเวลา ๑ ปี ๔ เดือน ๑๘ วัน สอริพระชนมายุ ๗๗ พรรษา

พระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๗

เนื้อหา : หอมรดกไทย และ www.dharma-gateway.com
ภาพประกอบ : www.dhammajak.net

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก