หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ นางสุปปิยา
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๗. นางสุปปิยา เอตทัคคะในฝ่ายผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้

นางสุปปิยา เกิดในตระกูลหนึ่ง ในกรุงพาราณสี เมื่อเจริญวัยแล้วได้สามีผู้มีฐานะใกล้ เคียงกัน นางเป็นผู้มีอุปนิสัยศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่

ต่อมา เมื่อพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จจาริกไปยังกรุงพาราณสี นางได้ทราบข่าวการเสด็จมา จึงเข้าเฝ้าพร้อมกับพุทธบริษัทอื่น ๆ ได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วได้ บรรลุโสดาปัตติผล

วันหนึ่งนางได้ไปฟังธรรมที่วัด และก่อนที่จะกลับบ้าน ได้เดินเยี่ยมเยือนพระภิกษุภายใน วัดนั้น พบพระภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง ได้ถามอาการของท่านแล้วจึงถามต่อไปว่า:-
“ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าต้องการสิ่งใดบ้าง ?”
“อุบาสิกา อาตมาต้องการอาหารที่มีเนื้อจ้ะ”
“เอาเถอะ พระคุณเจ้า ดิฉันจะจัดมาถวายตามที่พระคุณเจ้าต้องการ”

เฉือนเนื้อตัวเองถวายพระ
วันรุ่งขึ้น นางได้ใช้ให้ทาสีไปหาซื้อเนื้อที่ตลาด ปรากฏว่า วันนั้นทั่วทั้งตลาดไม่มีเนื้อ เหลืออยู่เลย นางทาสีจึงกลับมามือเปล่า อุบาสิกา เมื่อไม่มีเนื้อจะปรุงอาหารถวายพระ ก็ร้อนใจ ว่า:-
“เราได้บอกกับพระคุณเจ้าไว้ว่า จะจัดอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อมาถวาย ถ้าเราไม่มีส่งไป พระคุณเจ้าก็จะลำบาก ควรที่เราจะส่งเนื้ออย่างใดอย่างหนึ่งไปถวาย”

เมื่อนางคิดดังนั้นแล้ว ก็เข้าไปในห้อง ใช้มีดเฉือนเนื้อ ที่ขาของตนเองออกมาก้อนหนึ่ง แล้วส่งให้นางทาสีจัดการปรุงอาหาร พร้อมทั้งสั่งให้นำไปถวายพระคุณเจ้าที่วัด ถ้าพระคุณเจ้า ถามถึงก็ให้บอกว่า อุบาสิกาเป็นไข้

นางทาสีก็ทำตามที่อุบาสิกาผู้เป็นนายสั่งทุกประการ

พระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบว่านางสุปปิยาไม่สบาย ครั้นวันรุ่งขึ้น จึงพร้อมด้วยภิกษุ สงฆ์เป็นบริวาร เสด็จไปยังบ้านของนางสุปปิยาอุบาสิกา นางเมื่อทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จ มา ได้ปรึกษากับสามีว่า ตนไม่สามารถที่จะเข้าเฝ้า ถวายการต้อนรับได้ ขอให้สามีจัดการกราบทูล อาราธนาพระบรมศาสดา ให้ประทับนั่ง ณ ที่อันควร แล้วถวายพระกระยาหาร

พระบรมศาสดา เสด็จมาถึงบ้านของนางสุปปิยา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ ที่จัดไว้แล้ว ตรัสถามถึงนางสุปปิยาว่า:-
“อุบาสก นางสุปปิยาไปไหน ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางเป็นไข้นอนอยู่ในห้อง พระเจ้าข้า”
“จงเรียกนางมาเถิด อุบาสก”

นางสุปปิยา นอนอยู่ในห้อง ได้ยินพระพุทธดำรัส ที่ตรัสกับสามีโดยตลอด จึงคิดว่า “พระ บรมศาสดา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ สงเคราะห์เกื้อกูล แก่ชาวโลกทั้งปวง คงจะทรงทราบเหตุ เรื่องราวของเราแล้ว จึงรับสั่งเรียกหา” เมื่อคิดดังนี้แล้ว เกิดปีติปราบปลื้ม ลืมความเจ็บปวด จึงรีบ ลุกขึ้นจากเตียง โดยเร็ว ด้วยหวังจะเข้าเฝ้า ทันใดนั้น เหตุอัศจรรย์ อันเกิดจากพุทธานุภาพ บาด แผล ที่ขาของนางก็หายสนิท ผิวราบเรียบ ไม่มีร่องรอยของบาดแผล ผิวพรรณผ่องใสยิ่งกว่าเดิม

นางยิ่งเกิดปีติศรัทธามากขึ้น รีบจัดแจงแต่งกายเรียบร้อยแล้ว ออกมาเข้าเฝ้า กราบถวายยังคมด้วย เบญจางคประดิษฐ์แล้วนั่ง ณ ที่อันควรแก่นตน

พระพุทธองค์ทรงพระดำริว่า “อุบาสิกานี้ไม่สบายด้วยเหตุอุไรหนอ” ดังนี้แล้วจึงได้ ตรัสถาม นางสุปปิยา ก็ได้กราบทูลเรื่องราว ที่ตนกระทำทั้งหมด ให้พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ

ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์
พระบรมศาสดา ครั้นเสร็จกิจแล้ว เสด็จกลับพระวิหาร รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วทรงตำหนิ ภิกษุรูปนั้นเป็นอย่างมากแล้ว ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุฉันเนื้อมนุษย์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาพระบรมศาสดาขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนา อุบาสิกาทั้งหลายในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ทรงปรารภอุปนิสัยศรัทธาของนางสุปปิยาแล้ว ได้ทรง สถาปนานางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า อุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้อุปัฏฐากภิกษุไข้

เนื้อที่ภิกษุฉันไมได้ ๑๐ อย่าง
๑. เนื้อมนุษย์
๒. เนื้อช้าง
๓. เนื้อม้า
๔. เนื้อสุนัข
๕. เนื้องู
๖. เนื้อราชสีห์
๗. เนื้อหมี
๘. เนื้อเสือโคร่ง
๙. เนื้อเสือดาว
๑๐. เนื้อเสือเหลือง

สัตว์ที่ภิกษุไม่ควรฉัน ๔ ประเภท
๑. สัตว์ที่เห็นเขาฆ่า
๒. สัตว์ที่ได้ยินเขาฆ่า
๓. สัตว์ที่เขาจงใจฆ่าให้ฉัน
๔. สัตว์ที่เลี้ยงไว้เอง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก