หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระวังคีสเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระวังคีสเถระ
" พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมาก็เพื่อช่วยเหลือ
ผู้ที่พร้อมทำตามคำสอนของพระองค์ไม่ว่าหญิงหรือชาย
การที่เราได้มาเฝ้าพระองค์จนถึงสำนัก
นับว่าเป็นการมาดี เพราะทำให้ได้บรรลุธรรมอันประเสริฐ "

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระวังคีสเถระ ครั้งพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว ที่มีโภคสมบัติมาก ในกรุงหังสวดี ไปฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดา ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ จึงกระทำกุศลกรรมแด่พระศาสดา กระทำความปรารถนาว่า ในอนาคตกาล แม้ข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีปฏิภาณ เป็นผู้อันพระศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว กระทำกุศล จนตลอดชีพ เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระวังคีสะ มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียน ตามคัมภีร์ในลัทธิของพราหมณ์ จนจบไตรเพท และได้เรียนมนต์พิเศษ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฉวสีสมนต์ เป็นมนต์สำหรับพิสูจน์ กะโหลกซากศพ แม้ตายแล้วตั้งสามปี สามารถรู้ว่า ไปเกิดเป็นอะไร ณ ที่ไหน

และวังคีสพราหมณ์ ได้อาศัยมนต์นั้นเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ คือ ในชั้นต้น ได้แสดงศิลปะนั้น ให้ปรากฏ โดยความจริงแก่พวกชนในพระนครนั้น

อาศัยฉวสีสมนต์เลี้ยงชีพ
พวกพราหมณ์ทั้งหลาย ได้เห็นแล้วคิดกันว่า พวกเราอาศัยวังคีสพราหมณ์นี้เลี้ยงชีพได้ จึงได้พาเที่ยวไปสู่ชนบทน้อยใหญ่ ประกาศแก่หมู่มนุษย์ทั้งหลายว่า วังคีสพราหมณ์นี้ รู้มนต์วิเศษ คือ ร่ายมนต์แล้ว เอาเล็บเคาะที่ศีรษะแห่งสัตว์ที่ตายแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า ผู้นี้ไปบังเกิดในนรก ผู้นี้ไปบังเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ผู้นี้ไปเกิดในเปรตวิสัย ผู้นี้ไปเกิดในเทวโลก

พวกมนุษย์ทั้งหลาย ได้ยินประกาศดังนี้ ก็มีความประสงค์ อยากจะถามถึงพวกญาติของตน ๆ บ้าง จึงให้ทรัพย์ตามกำลังของตน มากบ้างน้อยบ้าง แล้วถามถึงที่เกิดของพวกญาติของตน ๆ

พวกพราหมณ์เหล่านั้น พาวังคีสพราหมณ์เที่ยวไปในนิคมชนบทอย่างนี้ แล้วกลับมาถึงพระนครสาวัตถี พักอยู่ใกล้พระเชตวันมหาวิหาร

พระพุทธองค์ทดสอบมนต์
วันหนึ่งในเวลาเช้า พวกพราหมณ์เหล่านั้น ได้เห็นพวกมนุษย์เป็นอันมาก ถือดอกไม้ธูปเทียน ไปเพื่อจะฟังเทศน์ในเชตวันมหาวิหาร จึงถามว่า พวกท่านจะไปไหนกัน พวกมนุษย์ตอบว่า ไปฟังเทศน์ ที่พระเชตวันมหาวิหาร พวกท่านจะไปที่นั่นทำไม ก็คนที่จะดีวิเศษ เช่นกับด้วยวังคีสพราหมณ์ ของพวกเรา หาไม่ได้อีกแล้ว เธอรู้มนต์มาก พวกมนุษย์ก็เถียงว่า วังคีสพราหมณ์ จะรู้อะไร คนที่จะเหมือนกับพระบรมศาสดา ของพวกเรา ก็หาไม่ได้เหมือนกัน เมื่อต่างพวก ต่างเถียงไม่ตกลงกัน จึงได้พร้อมกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร

พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พวกวังคีสพราหมณ์มาสู่ที่เฝ้า พระองค์รับสั่ง ให้นำกะโหลกคนตายมา ๕ กะโหลก คือ กะโหลกของสัตว์เกิดในนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน มนุษยโลก เทวโลก สี่กะโหลก พระขีณาสพกะโหลกหนึ่ง ตั้งเรียงไว้ โดยลำดับกัน

เมื่อวังคีสพราหมณ์เข้ามาเฝ้าแล้ว พระองค์ตรัสถามว่า ฉันได้ทราบว่า ท่านร่ายมนต์ แล้วเคาะกะโหลกมนุษย์ ที่ตายแล้ว ย่อมรู้ที่เกิดของเขาหรือ?

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถาม กะโหลกของสัตว์ สี่กะโหลก ที่เกิดในที่ทั้งสี่ วังคีสพราหมณ์ก็ทายถูกต้องทั้งหมด

พระองค์จึงตรัสให้สาธุการว่า ดีละ ๆ ถูกต้องละ ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสถามกะโหลกที่ห้าว่า ผู้นี้ไปเกิดที่ไหน? วังคีสพราหมณ์ ร่ายมนต์แล้วเคาะกะโหลก ก็ไม่รู้จักที่เกิด เพราะเป็นกะโหลกพระอรหันต์ จึงนิ่งเฉยอยู่ พระบรมศาสดาตรัสถามว่า เธอไม่รู้หรือวังคีสะ?
วังคีสะ : พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้
พระพุทธเจ้า : ฉันรู้
วังคีสะ : พระองค์รู้ด้วยอะไร
พระพุทธเจ้า : รู้ด้วยกำลังมนต์ของฉัน

บวชเพื่อหวังเรียนมนต์วิเศษ
ครั้งนั้น วังคีสพราหมณ์ จึงกราบทูลขอเรียนมนต์นั้น พระองค์ตรัสว่า คนที่ไม่บวช ฉันให้เรียนไม่ได้ วังคีสพราหมณ์นั้น จึงคิดว่า ถ้าเราเรียนมนต์นี้ได้แล้ว เราจักเป็นใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้นไป และสั่งว่า พวกท่านจงรอเราอยู่นั่นแหละ สักสองสามวัน เราจักบวชในสำนักของพระบรมศาสดา

ครั้นวังคีสพราหมณ์ ได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาทรงประทานกรรมฐาน มีอาการสามสิบสอง เป็นอารมณ์ ตรัสสั่ง ให้ท่องบ่น บริกรรมซึ่งมนต์นั้น ครั้นท่านสาธยายมนต์นั้นอยู่อย่างนี้ พวกพราหมณ์ ก็คอยมาถามอยู่ว่า เรียนมนต์ได้แล้วหรือยัง? ท่านตอบว่า รอก่อนกำลังเรียนอยู่

ล่วงไปสองสามวันเท่านั้น ท่านพระวังคีสะ ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล ในพระพุทธศาสนา

เอตทัคคะในทางผู้มีปฏิภาณ
ครั้นท่านได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่ใด เวลาใด ย่อมกล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระองค์บทหนึ่ง ๆ ก่อนเสมอ

ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาประทับนั่ง ณ ท่ามกลางสงฆ์ ทรงสถาปนาท่านไว้ ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ (ปฏิภาณวนฺตานํ) .

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระวังคีสเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปฏิภาณ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก