หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระอุรุเวลกัสสปะ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระอุรุเวลกัสสปะ
" ...เมื่อก่อน เรายินดีการบูชายัญ ห้อมล้อมด้วยกามารมณ์ ภายหลังจึงถอนราคะ โทสะ และโมหะ ได้แล้ว
บัดนี้ เราระลึกชาติได้ มีตาทิพย์ มีฤทธิ์ รู้ความคิดของผู้อื่น และมีหูทิพย์ ...กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงเราก็ละได้สิ้นแล้ว "

พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องเป็นพระอสีติมหาสาวก ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีบริวารมาก

ชาติกำเนิด
พระอุรุเวลกัสสปะ เกิดในตระกูลพราหมณ์กัสสปโคตร มีน้องชาย 2 คน ชื่อ กัสสปะ เหมือนกัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ศึกษาจบไตรเพท คือ พระเวท 3 อย่าง ซึ่งเป็นคัมภีร์ ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของพราหมณ์ ได้แก่
1. ฤคเวท (อรุพเพท) ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
2. ยชุรเวท (ยชุพเพท) บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
3. สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ

กัสสปะพี่ชายคนโตนั้น มีบริวาร 500 คน กัสสปะ คนกลาง มีบริเวณ 300 คน และกัสสปะ คนเล็กสุดท้าย มีบริวาร 200 คน ต่อมาทั้งสามพี่น้อง มีความเห็นตรงกันว่า “ลัทธิที่พวกตนนับถืออยู่นั้นไม่มีแก่นสาร” จึงพากันออกบวชเป็นฤๅษีชฎิล เกล้าผมเซิง บำเพ็ญพรตบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา ตามลำดับกัน พี่ชายคนโต ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนเหนือ ณ ตำบลอุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า “อุรุเวลกัสสปะ” น้องชายคนกลาง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำถัดไป ณ ตำบลนที จึงได้ชื่อว่า “นทีกัสสปะ” ส่วนน้องชายคนเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ณ ตำบลคยา จึงได้ชื่อว่า “คยากัสสปะ”

บุพกรรมในอดีตชาติ
ในอดีตกาลพระอุรุเวลกัสสปะเถระ บังเกิดขึ้นในเรือนของผู้มีตระกูล ในเมืองหงสาวดี พอเติบโตขึ้นแล้ว ได้ไปฟังพระธรรมเทศนา ของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นพระองค์ ทรงตั้งพระเถระรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งอันเลิศที่สุด กว่าพระสาวกทั้งหลายฝ่าย "มีบริวารมาก" จึงคิดว่า เราจะได้เป็นเช่นพระเถระนั้นบ้างในอนาคต

กุลบุตร (อุรุเวลกัสสปะ) เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงจัดการถวายมหาทาน แด่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การถวายมหาทาน กระทำอยู่ทั้งหมด 7 วัน และในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าไตรจีวร แล้วตั้งความปารถนาว่า ขอให้ข้าพระองค์ ได้รับตำแหน่งอันเลิศที่สุด ด้านมีบริวารมาก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ด้วยผลของบุญกุศลนี้ ในอนาคตกลาโน้นเถิด พระเจ้าข้า

พระปทุมมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพิจารณาเป็นถึง ความเป็นไปในอนาคตกาลของกุลบุตรนั้น ไม่มีเหตุขัดข้องแต่ประการใด จึงทรงพยากรณ์ว่า เธอจะได้เป็นผู้เลิศ ฝ่ายมีบริวารมากสมตามความปารถนา ในศาสนาของพระสมณโคดมพุทธเจ้า โดยจะเสด็จขึ้น ในหนึ่งแสนกับข้างหน้าโน้น

กุลบุตรนั้น ฟังคำพุทธพยากรณ์แล้ว เกิดความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ราวกับว่า ความปรารถนาจะสำเร็จในวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ แล้วสร้างกัลยาณกรรมต่อมา จนตลอดชีวิต เมื่อนับถอยหลังจากกัปนี้ไปอีก 92 กัป ชาติหนึ่ง ท่านกลับมาเกิดเป็น พระอนุชาต่างพระมารดา กับพระผู้มีภาคเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า พระปุสสสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระราชบิดานามว่า พระมหินทราชา และมีพระอนุชาอีก 2 พระองค์ รวมเป็น 3 พระองค์ และแต่ละองค์มียศฐาบรรดาศักดิ์ต่างๆ กัน

ครั้งหนึ่ง ที่ปลายเขตแดนของพระมหินทราชา เกิดมีข้าศึกศัตรูมารุกราน พระราชาจึงเรียกพระโอรสทั้ง 3 พระองค์ไปปราบข้าศึก และทรงสามารถปราบข้าศึกศัตรู จนราบคาบ ระหว่างทางกลับ จึงปรึกษาหารือกันว่า เราทำงานได้สำเร็จ เมื่อพระราชบิดาพระราชทานพรแก่ตนแล้ว จะเลือกรับพรอะไรดี แล้วมีดำริตรงกันว่า ไม่ว่าจะเป็นพระราชสมบัติใดๆ ก็ตาม ที่องค์สมเด็จพระราชบิดาจะพระประทาน ไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับ การได้ปฏิบัติบำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระเชฎฐาธิราชนั้นเลย เนื่องจากพระราชบิดานั้น คิดว่าพระพุทธเจ้า เป็นของพระองค์คนเดียว จึงทรงถวายทาน และไม่ให้ผู้อื่นร่วมทำบุญด้วย

ครั้นเมื่อพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ มาถึงพระนคร ก็กราบทูลชัยชนะให้ทรงทราบ และขอพระราชทานพรดังที่ปรึกษากันอันนั้น เมื่อได้รับพรแล้ว ก็ทำการสมาทานศีล 10 ประการ แต่งตั้งบุรุษ 3 คนให้เป็นผู้ดูแลโรงทาน คอยตกแต่งไทยธรรม ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า โดยให้บุรุษผู้หนึ่งจัดหาธัญญาหาร บุรุษผู้หนึ่ง เป็นพนักงานตรวจนับ และบุรุษอีกผู้หนึ่ง เป็นพนักงานตกแต่งไทยธรรม พนักงานทั้งสามท่านนั้นใน ครั้นมาถึงในชาติปัจจุบัน ผู้เป็นพนักงานจัดหาธัญญาหาร กลับมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพนักงานจัดหาธัญญาหาร กลับมาเกิดเป็นนางวิสาขอุบาสิกา และผู้เป็นพนักงานตกแต่งไทยธรรม กลับมาเกิดเป็นพระรัฐบาลเถระ

พระราชโอรสทั้งสามพระองค์ เสด็จพากันไปทรงสมาทานศีล 10 ประการ อยู่จนตลอดไตรมาส (3 เดือน) เพื่อยึดหลักแห่งการบูชาสูงสุด ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอน แม้ว่าจะมีการปฏิบัติ ด้วยการบริจาคจตุปัจจัยบำรุงแล้วก็ตาม

พอออกพรรษาแล้ว พระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ทรงจัดการถวายไทยธรรม ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงกระทำบุญอยู่จนตลอดพระชนมชีพ ครั้นมาถึงชาติสุดท้ายนี้ พระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ กลับมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ กัสสปโคตร ก่อนพระพุทธเจ้า และมีชื่อเหมือนกันหมดทั้งสามคน คือ กัสสปะ แต่มีคำนำหน้าชื่อ ที่ต่างกันออกไปตามที่อยู่ เช่นองค์ที่อยู่ที่ ตำบลอุรุเวลา มีชื่อว่า อุรุเวลกัสสปะ องค์ที่อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำมหาคงคานที จึงถูกเรียกว่า นทีกัสสปะ และคนสุดท้องมีชื่อว่า คยากัสสปะ เพราะอาศัยอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ

การได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีบริวารมาก
พระอุรุเวลกัสสปะได้รับยกย่องในทางผู้มีบริวารมาก (ที่เป็นพระอรหันต์ 1,002 องค์) เนื่องจากท่านเป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม อันเป็นธรรมสำหรับผู้ใหญ่ใช้ปกครองดูแลบริวารให้มีความสุข ซึ่งประกอบด้วย
1. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
2. กรุณา ความสงสาร ปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3. มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
4. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจไม่เสียใจเมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ

ด้วยคุณธรรมเหล่านี้ และอีกทั้งรู้จักบำรุงจิตใจบริวาร ด้วยการสงเคราะห์ ด้วยวัตถุสิ่งของ และหลักธรรมะ จึงทำให้ท่าน สามารถยึดเหนี่ยวจิตใจบริวารไว้ได้ เป็นที่รักเคารพของบริวาร และก็เป็นพุทธสาวกรูปเดียว ที่มีบริวารมากที่สุด พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าพระสาวกทั้งปวง ในฝ่ายผู้มีบริวารมาก

ความสำคัญในพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธองค์ ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในพรรษานั้นมีพระสงฆ์สาวก ผู้สำเร็จพระอรหันต์ จำนวน 60 รูป เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาได้ส่งพระสาวกทั้ง 60 รูปนั้น ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังถิ่นต่าง ๆ ส่วนพระองค์เอง เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

ในระหว่างทาง เสด็จเข้าไปประทับพักผ่อน ภายใต้ร่มไม้ริมทางในไร่ฝ้าย ขณะนั้นมีพระราชกุมาร 30 พระองค์ ผู้ได้นามว่า “ภัททวัคคีย์” ได้พาภรรยาไปเที่ยวหาความสุขสำราญ ในราชอุทยาน ราชกุมารองค์หนึ่ง ไม่มีภรรยา จึงพาหญิงโสเภณีไปเป็นคู่เที่ยว เมื่อพวกราชกุมาร กำลังเพลิดเพลินสนุกสนานกันอยู่นั้น หญิงโสเภณีได้ขโมยของมีค่าหนีไป พวกราชกุมารออกติดตามมา ได้พบพระผู้มีพระภาคที่ไร่ฝ้าย จึงเข้าไปเฝ้า แล้วกราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เห็นหญิงคนหนึ่ง ผ่านมาทานี้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ?"
“ พวกท่านเห็นว่า การแสวงหาหญิง กับการแสวงหาสิ่งประเสริฐในตน สิ่งไหนจะดีกว่ากัน ?"
“แสวงหาสิ่งประเสริฐในตน ดีกว่า พระเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลาย จงนั่งลง ตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง”

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ฟัง จนทั้งหมดได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบัน ถึงชั้นพระสกทาคามี และพระอนาคามีทุกพระองค์ จากนั้น พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้แล้ว ส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา

พระบรมศาสดา เสด็จต่อไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เสด็จเข้าไปยังสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ตรัสขอพักอาศัยสักหนึ่งราตรี แต่อุรุเวลกัสสปะ เห็นว่าเป็นนักบวชต่างลัทธิ จึงบ่ายเบี่ยงว่า ไม่มีสถานที่ให้พัก พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ธรรมดาว่าโค ย่อมเข้าไปสู่ฝูงโค นักบวช ก็ย่อมเข้าไปสู่สำนักของนักบวช ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ ตถาคตจะขอพักอาศัยอยู่ในโรงไฟ ซึ่งเป็นที่บูชายัญของท่านนั้น” “ดูก่อนมหาสมณะ เรามิได้หนักใจ ถ้าท่านจะพักในที่นั้น แต่ว่ามีพญานาคดุร้าย และมีพิษมาก อยู่ในโรงไฟนั้น เกรงว่าท่านจะได้รับอันตรายถึงชีวิตก็ได้”

เมื่ออุรุเวลกัสสปะไม่ขัดข้อง พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปในโรงไฟ ทรงพิจารณาตรวจดู สถานที่อันสมควรแล้ว ประทับนั่งสมาธิเจริญกรรมฐาน ฝ่ายพญานาค เห็นผู้แปลกหน้าผิดกลิ่น เข้ามาในโรงไฟของตน ก็โกรธ จึงพ่นพิษออกมาเป็นควันไฟ อบอวลทั่วทั้งโรงไฟ หวังจะทำอันตรายให้สิ้นชีวิต แต่พระพุทธองค์ทรงแสดงพุทธานุภาพ ให้ปรากฏ ด้วยการบันดาลให้ควันไฟ กลับไปสัมผัสเนื้อ หนัง เอ็น และกระดูกของพญานาค ทำให้ฤทธิ์เดชของพญานาคเหือดหายไป บังเกิดความเจ็ดปวดขึ้นมาแทน

อุรุเวลกัสสปะ ละลัทธิเดิม
ในราตรีนั้น พระพุทธองค์ทรงทรมานพญานาค ด้วยวิธีต่าง ๆ ทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติบันดาลให้เปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการทั่วโรงไฟ เหล่าชฎิลทั้งหลายต่างมองดูด้วยความดีใจว่า “พระสมณะ คงจะวอดวาย ในกองเพลิงด้วยพิษของพญานาค อย่างแน่นอน” ในที่สุด พระพุทธองค์ ก็ทรงปราบพญานาค จนสิ้นฤทธิ์โดยสิ้นเชิงแล้วจับเอาลงไปขดไว้ในบาตรรุ่งเช้า อุรุเวลกัสสปะ พาศิษย์ชฎิลมาตรวจดู เมื่อเป็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงคิดว่า “พระสมณะนี้ มีอานุภาพมาก สามารถปราบพญานาคให้พ่ายแพ้ได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา” คิดดังนี้แล้ว จงยังมิยอมรับนับถือ แต่ก็รู้สึกเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ และนิมนต์ให้พักอยู่ต่อไปได้ โดยพวกตนจะเป็นผู้นำอาหารมาถวายทุกวัน

วันต่อมา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปประทับที่ชายป่าใกล้ ๆ อาศรมของอุรุเวลกัสสปะนั้น ในยามราตรีของแต่ละคืน ได้มีทวยเทพเทวาตั้งแต่ชั้น จาตุมหาราชทั้ง 4 ท้าว โกสีย์เทวราช และท้าวสหัมบดีพรหม ต่างก็มาเข้าเฝ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้เปล่งรัศมีแสงสว่างทั่วทั้งไพรสณฑ์ ยังความฉงนสนเท่ห์ให้เกิดแก่อุรุเวลกัสสปะ และบริวารเป็นอย่างยิ่ง ครั้นรุ่งเช้า ได้กราบทูลถามเหตุที่มาของแสงสว่างนั้น ครั้นได้ทราบความตลอดแล้วรู้สึกศรัทธาเลื่อมใสและดำริอยู่ในใจว่า “อานุภาพของพระสมณโคดมนี้ยิ่งใหญ่หาผู้เปรียบมิได้ แม้แต่เทพยาดาทุกชั้นฟ้า ยังมาเข้าเฝ้าเพื่อขอฟังธรรม แต่ถึงจะยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม ก็ยังมิได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเช่นเรา”พระบรมศาสดา ทรงพักอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ เป็นเวลา 2 เดือน ทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ทรมานอุรุเวลกัสสปชฎิล หลายประการ แต่อุรุเวลกัสสปะ ผู้มีสันดานกระด้าง มีทิฏฐิแรงกล้ายังถือตนเองว่าเป็นพระอรหันต์อยู่เช่นเดิม

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ตถาคต จะยังโมฆบุรุษชฏิลนี้ ให้เกิดความสลดสังเวช” ดังนี้แล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทางปฏิบัติของท่านยังห่างไกลต่อการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ มิใช่ทางมรรคผลอันใดเลย ไฉนท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านลวงตนเองแล้วยังลวงคนอื่น ถ้าท่านรู้สึกสำนึกตัว และปฏิบัติตามคำสอนของเรา ท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ที่แท้จริงในไม่ช้า”อุรุเวลกัสสปะ ได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็รู้สึกสลดใจ ก้มศีรษะลงแทบพระบาทกราบทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา จึงตรัสแก่เธอว่า “กัสสปะ ท่านเป็นอาจารย์เจ้าสำนักที่ยิ่งใหญ่ มีบริวารมากกว่า 500 คน ท่านจงบอกให้บริวารของท่านทราบทั่วกันก่อน ตถาคตจึงจะอุปสมบท ให้ท่าน”

อุรุเวลกัสสปะ จึงประกาศชักชวนชฎิลบริวารของตนทั้งหมด พากันลอยบริขารดาบส มีเครื่องแต่งผมเป็นชฎา และเครื่องบูชาเพลิง เป็นต้น ลงในแม่น้ำแล้วทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดา ประทานการอุปสมบทด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา พร้อมกันทั้งหมดฝ่าย นทีสัสสปะ และ คยากัสสปะ น้องชายทั้งสองคน ซึ่งตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตอนใต้ลงไปตามลำดับ เห็นบริขารของพี่ชายลอยมาตามน้ำ ทำให้คิดว่า “อันตรายคงจะเกิดมีแก่พี่ชายของตน” จึงพร้อมด้วยบริวารรีบมาที่สำนักของพี่ชาย เห็นพี่ชายอยู่ในเพศพระภิกษุ จึงสอบถามได้ความว่า “พรหมจรรย์นี้ประเสริฐยิ่งนัก” จึงพากันลอยบริขารลงในแม่น้ำแล้วขออุปสมบทด้วยกัน ทั้งหมด

พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร
คยาสีสะ (หรือเขาพรหมโยนีตามตำนานของฮินดู) สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่หมู่ภิกษุชฏิล 1,003 รูปจนสำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมดพระพุทธองค์ ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พอสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จพร้อมด้วยหมู่ภิกษุชฎิลเหล่านั้น จำนวน 1,003 รูป ไปยัง ตำบลคยาสีสะ และประทับอยู่ ณ ที่นั้น ทรงพิจารณาเห็นอินทรีย์ของภิกษุใหม่ แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเรียกท่านเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันแล้วตรัสพระธรรมเทศนา “อาทิตตปริยายสูตร” ทรงเปรียบเทียบสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนดุจเดียวกับไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของพวกเธอ ที่เคยบูชาไฟมาก่อน

ทรงแสดงถึงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เป็นของร้อน และความรู้สึกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะตาเห็นรูป หรือหูได้ยิน เป็นต้น ก็เป็นของร้อนใจความโดยสรุปก็คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัส และใจกระทบอารมณ์ แล้วทำให้เกิดความเร่าร้อน ร้อนเพราะราคา โทสะ และโมหะ เป็นต้น ผู้ได้สดับและรู้เท่าทันกิเลสเหล่านี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็ไม่ยึดมั่นไม่ถือมั่นสิ่งเหล่านั้น

ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น ภิกษุชฎิล ทั้ง 1,003 รูป ส่งกระแสจิตไปตามวาระแห่งพระธรรมเทศนา จิตของพวกเธอ ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง สำเร็จป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยกันทั้งหมด

ตามเสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสารและช่วยประกาศศาสนา
พระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ช่วยกิจการพระพุทธศาสนา และช่วยแบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดา ได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ใหม่ ๆ ได้ติดตามเสด็จพระบรมศาสดาไปสู่เมืองราชคฤห์ พระพุทธองค์ประทับณ ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่ม พระเจ้า พิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยพราหมณ์ และคฤหบดีชาวเมืองมคธ จำนวน 12 นหุต เสด็จเข้ามาเฝ้า กราบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วปะทับนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่พระองค์ ส่วนบริวารที่ติดตามมาเหล่านั้น ต่างก็แสดงกิริยาอาการต่าง ๆ กัน คือ บางพวกก็ถวายบังคม บางพวกก็กราบทูลสนทนา บางพวกก็ประกาศชื่อและตระกูลของตน บางพวกก็นั่งเฉย ๆ เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะคนเหล่านั้นยังไม่แน่ใจว่า ระหว่างพระบรมศาสดากับอุรุเวลกัสสปะ นั้นใครเป็นศิษย์ใครเป็นอาจารย์กันแน่ เพราะว่า อุรุเวลกัสสปะ ก็เป็นเจ้าสำนักใหญ่ มีคนเคารพนับถือมากมาย และได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตความคิดของคนเหล่านั้นเป็นอย่างดี เพื่อปลดเปลื้องความสงสัยของคนเหล่านั้น จึงตรัสถามพระอุรุเวลกัสสปะ ว่า “กัสสปะ เธออยู่ในอุรุเวลาเสนานิคมมานาน เป็นอาจารย์สั่งสอนชฎิลให้บำเพ็ญพรต จนซูบผอม เธอเห็นโทษอะไรหรือ จึงเลิกละการบูชานั้นเสีย?”

พระอุรุเวลกัสสปะ เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว ก็ทราบถึงพุทธประสงค์ดี จึงน้อมนมัสการกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค การบูชายัญทั้งหลาย ล้วนแต่มีความมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งกามคุณ มีรูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นของร้อน บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้รู้ชัดแล้วว่า ความรักใคร่ พอใจในกามคุณเหล่านั้น เป็นมลทิน ทำใจให้เศร้าหมอง ก่อให้เกิดกิเลส และความทุกข์ จึงละทิ้งการบูชาไฟนั้นเสีย บัดนี้ ข้าพระองค์ ได้เห็นธรรมอันสงบระงับแล้ว” พระเจ้าข้า ครั้นแล้ว พระเถระได้ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ๆ เป็นสาวกของพระองค์”

จากกิริยาอาการและถ้อยคำของพระเถระนั้น ทำให้บริวารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมดเหล่านั้นหายสงสัย น้อมจิตลงที่ฟังพระธรรมเทศนา ดังนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ 4” ให้ฟังเมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร 11 นหุตะ ได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนอีก 1 นหุตะ ดำรงอยู่ในไตรสรณคมน์ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

บั้นปลายชีวิต
ท่านดำรงอายุสังขารสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน (รายละเอียดไม่มีกล่าวไว้)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระอุรุเวลกัสสปะ - เอตทัคคะในด้านผู้มีบริวารมาก


ย้อนกลับ เนื้อหา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก