หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระปุณณสุนาปรันตเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระปุณณสุนาปรันตเถระ
 
บุรพกรรมที่ทำไว้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า ท่านบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ เห็นโทษในกามทั้งหลายละฆราวาสวิสัย แล้วบวชเป็นดาบส สร้างบรรณกุฏิ แล้วอยู่อาศัย ณ หิมวันต์ประเทศ

ณ ที่เงื้อมเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากที่ซึ่งพระดาบสนั้นอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพำนักอยู่ วันหนึ่งพระปัจเจกพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงอาพาธ และทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว ในเวลาที่พระปัจเจกพระพุทธเจ้านั้นปรินิพพาน ก็ได้บังเกิดแสงสว่างลุกโพลงขึ้น หมี หมาป่าเสือดาว เนื้อร้ายและราชสีห์ ที่อาศัยอยู่ในไพรสณฑ์นั้นทั้งหมด ก็ได้พากันส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น ดาบสเห็นเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว นั้นแล้ว เหลียวมองดูข้างโน้น ข้างนี้ โดยจะพิสูจน์ว่า แสงสว่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรหนอแล จึงได้เดินทางไปสู่เงื้อมเขา แลเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรินิพพานที่เชิงเขา ท่านจึงนำเอาหญ้า และไม้ฟืนที่มีกลิ่นหอมมากองให้เต็มแล้ว ได้ทำเชิงตะกอนขึ้นบนนั้น ครั้นทำเชิงตะกอนดีแล้ว จึงได้ถวายเพลิงพระปัจเจกพุทธสรีระ ครั้นถวายเพลิงพระสรีระแล้ว ได้นำเอาน้ำอบประพรม

ที่เงื้อมเขานั้นมีเทวบุตรองค์หนึ่ง ยืนอยู่ในอากาศ กล่าวอย่างนี้ว่า สาธุ สาธุ ท่านสัตบุรุษ กรรมที่ท่านบำเพ็ญกิจนั้นแก่พระปัจเจกะผู้สยัมภุแล้ว ด้วยบุญนั้นท่านจักบังเกิดในสุคติภพเท่านั้น และท่านจักมีนามว่า ปุณณะ ดังนี้

กำเนิดเป็นปุณณมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลคฤหบดี ที่ท่าชื่อว่า สุปปารกะ ในสุนาปรันตชนบท ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีนามว่า “ปุณณะ” ท่านมีน้องชายอีกคนหนึ่งชื่อว่า จุลปุณณะ เมื่อทั้งสองเจริญวัยแล้ว ก็ได้ทำการค้าโดยกองเกวียน

ในสองพี่น้องนั้น บางทีพี่ชาย ก็นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปชนบทแล้วก็บรรทุกสินค้ามา บางทีก็น้องชาย เป็นผู้ทำ ส่วนในครั้งนี้ ปุณณะผู้พี่ชาย ให้น้องชายอยู่เฝ้าบ้าน แล้วตัวเองก็นำเอาเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวไปตามหัวเมือง มาถึงกรุงสาวัตถี โดยลำดับ พักกองเกวียนอยู่ใกล้ๆ พระเชตวัน กินอาหารมื้อเช้าแล้ว นั่งพักผ่อนตามสบาย

สมัยนั้น ชาวกรุงสาวัตถี กินอาหารมื้อเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ สวมเสื้อสะอาด ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วพากันออกไปทางประตูทิศใต้ ไปสู่พระเชตวัน เมื่อเขาเห็นคนเหล่านั้น เดินทางกันมาเป็นกลุ่ม จึงถามชายคนหนึ่งว่า พวกนี้ไปไหนกัน นี่นาย คุณไม่รู้อะไรเลยหรือ บัดนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะอย่างนี้แหละ หมู่ชนพวกนี้ จึงพากันไปฟังธรรมกถา ในสำนักของพระศาสดา

เมื่อได้ยินคำว่า พุทธะ จากปากของชายคนนั้น เขาก็เกิดความเลื่อมใส เขาจึงพาบริวารของตน ไปสู่วิหารกับหมู่ชนพวกนั้น ยืนอยู่ท้ายสุดของบริษัท ฟังธรรมของพระศาสดาที่ กำลังแสดงธรรมอยู่ด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะ แล้วเกิดความเลื่อมใส อยากจะบวชขึ้นมา เมื่อบริษัททั้งหลาย กลับไปแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ทูลอาราธนา เพื่อเสวยพระกระยาหารในวันรุ่งขึ้น ในวันที่สอง จึงให้สร้างปะรำ ตั้งอาสนะ ถวายมหาทาน แด่พระสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นพระประมุข เมื่อเสร็จภัตกิจ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้ว เสด็จกลับ

ปุณณมาณพบวชในสำนักพระศาสดา
ปุณณมาณพ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้ว ก็อธิฐานองค์อุโบสถ แล้วให้เรียกเจ้าหน้าที่คุมของมา บอกว่า ของเหล่านี้ ได้จำหน่ายไปแล้ว จงให้สมบัตินี้ แก่น้องชายฉัน แล้วท่านก็บวชในสำนักพระศาสดา ตั้งหน้าตั้งตาทำกัมมัฏฐาน ครั้งนั้น เมื่อท่านเอาใจใส่ทำกัมมัฏฐานอยู่ กัมมัฏฐานก็ไม่ปรากฏ ต่อมาท่านจึงคิดว่า ชนบทนี้ ไม่เหมาะแก่เรา อย่างไรเสีย เราต้องรับกัมมัฏฐาน ในสำนักพระศาสดา แล้วไปสู่ถิ่นเดิมของเรา

จึงเมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาตในตอนเช้าแล้ว ออกจากการหลีกเร้น ในตอนบ่ายแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว อยู่เถิด

พุทธองค์เทศนาปุณณสูตร
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรปุณณะ มีรูป ที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น ทุกข์จึงเกิด ฯลฯ

ดูกรปุณณะ มีเสียง ที่รู้ได้ด้วยโสต มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย … มีธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลิน ก็เกิดขึ้น เพราะความเพลินเกิดขึ้น ทุกข์จึงเกิด ฯ

ดูกรปุณณะ รูปทั้งหลาย ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจน่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันรูปนั้น ความเพลินก็ดับไป เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ... มีธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เมื่อภิกษุนั้นไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันธรรมารมณ์นั้น ความเพลินก็ดับไป เพราะความเพลินดับไป ทุกข์จึงดับ

ดูกรปุณณะ ด้วยประการฉะนี้ เธอนั้นจึงไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบอกกัมมัฏฐานให้พระเถระแล้ว พระเถระก็เดินทางกลับไปยังแคว้นสุนาปรันตะ บ้านเกิดของท่าน

พระเถระเที่ยวหาสถานที่อันเป็นสัปปายะ (เหมาะแก่การปฏิบัติ)
ตอนแรก ท่านเข้าสู่แคว้นสุนาปรันตะแล้ว เข้าไปสู่อัมพหัฏฐบรรพต เข้าสู่หมู่บ้านพ่อค้า เพื่อบิณฑบาต ทีนั้นน้องชายจำท่านได้ จึงถวายอาหาร แล้วเรียนท่านว่า ท่านครับ ท่านไม่ต้องไปที่อื่น นิมนต์อยู่ที่นี้แหละ ท่านรับคำแล้วก็อยู่ในที่นั้นระยะหนึ่ง

ต่อจากนั้น ท่านได้ไปสู่วัดสมุทรคิรี ซึ่งอยู่ริมทะเล ในที่นั้น มีที่สำหรับเดินจงกรม ที่เขาตัดเอาแผ่นหิน ที่เสียบเหล็กไว้ตรงปลายมาทำ ไม่มีใครเดินเหยียบแผ่นหินนั้นได้ ในที่นั้น คลื่นทะเลชัดมากระทบแผ่นหิน ที่เสียบเหล็กตรงปลายเกิดเสียงดังมาก พระเถระคิดว่า จงเป็นที่อยู่สำราญ สำหรับผู้เอาใจใส่ทำกัมมัฏฐานเถิด แล้วก็อธิษฐานทำให้ทะเลสงบเสียง

ต่อจากนั้น ท่านได้ไปยังมาตุลคิรี ในที่นั้นมีพวกนกชุกชุม เสียงอึกทึกทั้งคืนทั้งวัน พระเถระคิดว่า ที่นี้ไม่สำราญ
ต่อจากนั้น ก็ไปวัดมกุฬการาม วัดนั้นอยู่ไม่ไกล ไม่ใกล้หมู่บ้านพ่อค้ามากนัก ไปมาสะดวกเงียบ ไม่มีเสียง พระเถระคิดว่า ที่นี้สำราญ จึงให้สร้างที่พักกลางคืนและกลางวัน พร้อมกับที่จงกรม เป็นต้นแล้ว ก็เข้าพรรษาในที่นั้น

น้องชายพระเถระออกเรือ
ต่อมาอีกวันหนึ่ง ภายในพรรษานั่นเอง มีพ่อค้า ๕๐๐ คน ตั้งใจว่า พวกเราจะออกทะเลไปค้าขาย จึงเอาสินค้าบรรทุกลงเรือ ในวันลงเรือ น้องชายของพระเถระ เลี้ยงพระเถระแล้ว เมื่อจะไปได้เรียนท่านว่า ท่านขอรับ ขึ้นชื่อว่าทะเลหลวง มีอันตรายมากมายเหลือ จะประมาณได้ ขอให้ท่าน ช่วยสอดส่องพวกกระผมด้วย แล้วก็ลงเรือ ไปจนถึงเกาะหนึ่ง พวกพ่อค้าคิดว่า พวกเราจะกินอาหารเช้า แล้วก็พากันขึ้นเกาะ บนเกาะนั้นไม่มีอะไร มีแต่ป่าจันทน์ทั้งนั้น ตอนนั้น คนหนึ่งเอามีดฟันต้นไม้ ก็รู้ว่าเป็นจันทน์แดง จึงกล่าวว่านี่ แน่ะ พวกเราไปสู่ทะเลอื่นก็เพื่อประสงค์จะได้ทรัพย์ การได้มาที่นี้นั้น จะหาลาภที่ยิ่งไปกว่านี้ ไม่มีอีกแล้ว ก็ไม้ท่อนขนาดยาว ๔ นิ้ว ก็ราคาตั้งแสนแล้ว แล้วพวกเขาก็เอาไม้จันทน์ บรรทุกจนเต็มลำเรือ

พวกอมนุษย์ ที่สิงในป่าจันทน์โกรธ พากันคิดว่า คนพวกนี้ มันทำป่าจันทน์ของพวกเราให้ฉิบหายแล้ว พวกเราจะฆ่าพวกมัน แล้วพูดว่า เมื่อพวกมันถูกฆ่าในที่นี้ ป่าทั้งหมดก็จะกลายเป็นป่าช้าไป พวกเราจะ ให้เรือมันจมกลางทะเล แล้วต่อมา ในเวลาที่คนพวกนั้น ขึ้นเรือแล้วแล่นไปได้ครู่ เดียวเท่านั้น ก็ทำให้เกิดพายุลงอย่างแรง แล้วพวกอมนุษย์เหล่านั้นเอง ก็พากันแสดงรูปที่น่ากลัวต่างๆ นานา พวกคนก็กลัว พากันไหว้เทพเจ้าของตนๆ จุลปุณณะ น้องชายพระเถระคิดว่า ขอให้พี่ชายของข้า จงเป็นที่พึ่งด้วยเถิด แล้วก็ยืนระลึกถึงพระเถระอยู่

พระเถระช่วยน้องชายและพวกจากอมนุษย์
ในขณะนั้นเอง พระเถระพิจารณาดู ก็ได้ทราบว่าพวกเขา กำลังตกอยู่ในความฉิบหาย จึงเหาะขึ้นสู่ฟ้า มายืนอยู่ตรงหน้าพวกอมนุษย์ พวกอมนุษย์เห็นพระเถระพูดว่า พระคุณเจ้าปุณณเถระมา แล้วพากันหลีกไป พายุร้ายก็สงบทันที พระเถระปลอบคนเหล่านั้นว่า ไม่ต้องกลัว แล้วถามว่า อยากจะไปไหนกัน พวกกระผม จะไปที่เดิมของตัวเองนั่นแหละครับท่าน พระเถระเหยียบแผ่นเรือ แล้วอธิษฐานว่า จงไปสู่ที่ที่คนพวกนี้ต้องการ

พวกชาวสุนาปรันตะประกาศตัวเป็นอุบาสก
พวกพ่อค้า เมื่อไปถึงที่ของตนแล้ว ก็เล่าเรื่องนั้นให้ลูกเมียฟัง แล้วชวนว่า มาเถิด พวกเราจงถึงพระ เถระเป็นที่พึ่งเถิด พ่อค้าทั้ง ๕๐๐ คน พร้อมกับพวกแม่บ้านของตนอีก ๕๐๐ คน ตั้งอยู่ในสรณะสาม ประกาศตัวเป็นอุบาสก ต่อจากนั้น ก็ให้ขนสินค้าลงจากเรือ แบ่งถวายพระเถระส่วนหนึ่ง แล้วเรียนท่านว่า ท่านครับ นี้เป็นส่วนของพระคุณท่าน
พระเถระตอบว่า : อาตมาไม่มีส่วนด้วยหรอก แต่พวกคุณเคยเห็นพระศาสดาแล้วหรือ
พ่อค้าตอบว่า : ยัง ไม่เคยเห็นเลยท่าน
พระเถระ : ถ้าอย่างนั้น ขอให้พวกคุณเอา ส่วนนี้ไปสร้างพระคันธกุฎี ถวายพระศาสดา แล้วพวกคุณจะได้เห็นพระศาสดา
พวกพ่อค้านั้นก็รับว่า : ดีแล้วท่าน แล้วก็เริ่มสร้างพระคันธกุฎี ชื่อว่า จันทนมาลา ด้วยไม้จันทน์แดง โดยใช้ทรัพย์ส่วนนั้น และเอาทรัพย์ส่วนของตนมาเพิ่มด้วยอีกมาก

พวกอุบาสก ช่วยกันสร้างพระคันธกุฎี และเสนาสนะสำหรับพระภิกษุสงฆ์จนสำเร็จ แล้วเตรียมเครื่องทาน แล้วกราบเรียนพระเถระว่า พระคุณเจ้า พวกกระผม ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ขอให้พระคุณเจ้า โปรดทูลพระศาสดามาเถิด

ตอนบ่าย พระเถระไปถึงกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์ แล้วกราบทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชาวหมู่บ้านพ่อค้าอยากเฝ้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ ได้โปรดกระทำอนุเคราะห์แก่พวกเขาเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว พระเถระทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว ก็กลับไปยังถิ่นของตนตามเดิม

พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาสั่งว่า อานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจะเที่ยวบิณฑบาต ที่หมู่บ้านพ่อค้าในแคว้นสุนาปรันตะ เธอจง ให้สลาก แก่ภิกษุขีณาสพ ๔๙๙ รูป พระเถระสนองพระพุทธบัญชาว่า ดีแล้ว พระ เจ้าข้า แล้วจึงบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วพูดว่า ขอให้พวกภิกษุที่เป็นปุถุชน จงอย่าจับฉลาก ในวันนั้นท่านพระกุณฑธานเถระ ก็จับสลากได้ที่ ๑

พวกชาวสุนาปรันตะกระทำมหาทานแด่พระพุทธองค์
ฝ่ายชาวหมู่บ้านพ่อค้า ทราบว่า พรุ่งนี้พระศาสดาจะเสด็จมาถึง จึงตระเตรียมของถวายทานชั้นเลิศ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำการปฏิบัติพระสรีระตั้งแต่เช้า เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ

ปัณฑุกัมพลสิลาสนะของท่าวสักกะ เกิดร้อนขึ้นมา ท้าวสักกะนั้น ทรงพิจารณาว่า อะไรทำให้เกิดเหตุเช่นนี้ ก็ทรงเห็นว่าพระศาสดา จะเสด็จไปแคว้นสุนาปรันตะ จึงรับสั่งเรียกพระวิษณุกรรมมาสั่งว่า ท่าน วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จเที่ยวบิณฑบาต ระยะทางไกลประมาณสามร้อยโยชน์ ท่านจงเนรมิตบุษบกไว้ ๕๐๐ หลัง ไว้ที่ท้ายสุดซุ้มประตูพระเชตวัน ไว้ให้พร้อม พระวิษณุกรรมนั้น ได้เนรมิตบุษบกตามรับสั่ง บุษบกสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ มุข ของสองพระอัครสาวก มี ๒ มุข ที่เหลือมีมุขเดียว พระศาสดา เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงเข้าสู่บุษบกอันประเสริฐ ในหมู่บุษบกที่ตั้งไว้ตามลำดับ เหล่าภิกษุ ๔๙๙ รูป เริ่มแต่พระอัครสาวกทั้งสอง ต่างก็ไปสู่บุษบก ๔๙๙ หลัง มีบุษบกว่างอยู่หลังหนึ่ง แล้วบุษบกทั้ง ๕๐๐ หลังก็ลอยไปในอากาศ

พระพุทธองค์ทรงโปรดสัจจพันธ์ดาบส
พระศาสดา เสด็จมาถึงภูเขาชื่อ สัจจพันธ์ แล้วทรงหยุดบุษบกนั้น ไว้ในอากาศ ที่ภูเขานั้น มีดาบสมิจฉาทิฐิ ชื่อว่า สัจจพันธ์ ทำให้มหาชน ถือเอาความเห็นผิด เป็นผู้ถึงลาภเลิศ และยศเลิศอยู่ แต่ตัวดาบสนั้น ก็มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอยู่สมบูรณ์ ครั้นทรงเห็นดาบสนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า เราจะแสดงธรรมแก่เขา จึงเสด็จไปทรงแสดงธรรม เมื่อทรงเทศน์จบ ดาบสก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบท ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระสัจจพันธ์ ทรงบาตรจีวรที่สำเร็จเพราะฤทธิ์ แล้วเหาะเข้าสู่บุษบกหลังที่ว่างอยู่นั้น

พระพุทธองค์ทรงโปรดชาวสุนาปรันตะ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเดินทางต่อไปถึงหมู่บ้านสุนาปรันตะ พร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่อยู่ในบุษบก ทรงบันดาลให้ใครๆ มองไม่เห็นบุษบก แล้วเสด็จไปสู่หมู่บ้านพ่อค้า พวกพ่อค้าได้ถวายทานใหญ่ แก่หมู่ภิกษุ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข แล้วทูลอาราธนาพระศาสดา เสด็จไปยังมกุฬการาม พระศาสดา ทรงเข้าสู่พระจันทนมาลาคันธกุฎี มหาชนต่างรับประทานอาหารมื้อเช้า เสร็จแล้วสมาทานองค์อุโบสถ ถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากกลับมาวัด เพื่อต้องการฟังธรรม พระศาสดาทรงแสดงธรรม หลังจบการแสดงพระธรรมเทศนา การหลุดพ้นจากกิเลส ก็ได้เกิดแก่มหาชนแล้ว

พระพุทธองค์ทรงโปรดนิมมทานาคราช
เพื่อสงเคราะห์มหาชน พระศาสดาประทับอยู่ ๒-๓ วันในที่นั้นเอง จากนั้น ก็เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ในหมู่บ้านสุนาปรันตะ แล้วตรัสสั่งให้พระปุณณเถระ กลับยังที่พัก โดยทรงตรัสว่า เธอจงอยู่ในที่นี้แหละ และทรงพระดำเนินต่อไป ในระหว่างทาง มีแม่น้ำชื่อ นิมมทา ได้เสด็จไปถึงฝั่งของแม่น้ำนั้น ณ ที่นั้น นิมมทานาคราช ถวายการต้อนรับพระศาสดา ทูลเชิญเสด็จเข้าสู่นาคพิภพ เหล่านาคได้กระทำสักการะพระรัตนตรัยแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว ก็เสด็จออกจากภพนาค นาคราชนั้น กราบทูบขอว่า ได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบูชาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแสดงรอยพระบาท ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนิมมทา รอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นซัดมาปิด เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด กลายเป็นรอยพระบาท ที่ถึงสักการะอย่างใหญ่

เมื่อพระศาสดา ทรงออกจากนั้นแล้ว ก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์ ตรัสกับท่านพระสัจจพันธ์ว่า มหาชน ถูกเธอทำให้จมลงในทางอบาย เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย แล้วให้พวกเขา ดำรงอยู่ในทางพระนิพพาน ท่านพระสัจจพันธ์นั้น ก็ทูลขอสิ่งแทนพระองค์เพื่อบูชา พระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ บนหลังแผ่นหินทึบ เหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสดๆ ฉะนั้น ต่อจากนั้น ก็เสด็จไปถึงพระเชตวันทีเดียว

พระเถระบรรลุพระอรหัตผล และปรินิพพาน
ภายในพรรษานั้นเอง ตัวท่านก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ และบรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษานั้นเอง ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ มหาชนทำการบูชาสรีระของพระเถระ ตลอด ๗ วัน แล้วเอาไม้หอมเป็นอันมาก มากองเผาสรีระ เก็บธาตุแล้วสร้างเจดีย์บรรจุไว้

ครั้งนั้นแล พวกภิกษุ ที่อยู่ในที่ฌาปนกิจศพของพระเถระ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุณณะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติ เป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบาก เพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพานแล้ว ฯ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก http://www.dharma-gateway.com

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก