หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระคยากัสสปะ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระคยากัสสปะ
" …เราได้ลงสู่กระแสน้ำ คือ มรรคมีองค์ ๘ แล้วลอยบาป ได้หมด
เราได้บรรลุวิชชา ๓ และได้ทำกิจในพระพุทธศาสนา เสร็จสิ้นแล้ว "

บุพกรรมในอดีตชาติ
ท่านคยากัสสปะ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิขี ท่านได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุล บรรลุนิติแล้ว เพราะความที่ตนเอง มีอัธยาศัยที่จะออกจากทุกข์ จึงละเพศฆราวาส ออกบวชเป็นพระดาบส สร้างอาศรมอยู่ในป่า มีมูลผลาหารในป่าเป็นอาหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปใกล้อาศรมของดาบสนั้น ดาบสนั้น พอได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็มีใจเลื่อมใส เข้าไปใกล้แล้ว ถวายบังคมยืนอยู่ ณ ที่อันสมควรด้านหนึ่ง คอยเวลาอยู่จึงน้อมเอาผลพุทรา อันเป็นที่น่าจับใจเข้าไปถวายแด่พระศาสดา ด้วยบุญกรรมอันนั้น ท่านจึงได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระคยากัสสปเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร เดิมชื่อว่า “กัสสปะ” ตามโคตร มีพี่ชาย 2 คนคือ อุรุเวลกัสสปะ และ นทีกัสสปะ

เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วได้เรียนจบไตรเพท ตามลัทธิของพวกพราหมณ์ จนมีความชำนาญ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีบริวารถึง 200 คน ครั้นต่อมา พิจารณาเห็นลัทธิของตน ไม่เป็นแก่นสาร จึงพร้อมด้วยพี่ชายทั้งสอง และบริวารออกบวชเป็นชฎิล บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมเรียงอยู่ตามฝั่งแม่น้ำโดยลำดับกัน โดยท่านตั้งอาศรมอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ถัดอาศรมของพี่ชายที่ 2 ลงไปทางใต้ จึงได้ฉายาที่อยู่เติมเข้าข้างหน้าเป็น “คยากัสสปะ

เมื่อพี่ชายทั้ง 2 พร้อมด้วยบริวาร ลอยบริขารชฎิลในแม่น้ำ แล้วพากันอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ท่านได้เห็นบริขารชฎิลลอยตามกระแสน้ำ สำคัญว่าเกิดอันตราย แก่พี่ชายทั้งสองของตน จึงพร้อมด้วยบริวารรีบพากันมา ก็ได้เห็นพี่ชายทั้งสองของตน พร้อมกับบริวารถือเพศเป็นภิกษุแล้ว ถามทราบว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐแล้ว จึงลอยบริขารของตน ในแม่น้ำพร้อมด้วยบริวารบ้าง แล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท

พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นเดียวกับพี่ชาย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ได้ตรัสเทศนาอาทิตตปริยายสูตร (แสดงสภาวธรรมว่าเป็นของร้อน)โปรด ในเวลาจบเทศนาท่านพร้อมด้วยพี่ชายทั้ง 2 และบริวารรวมเป็น ๑,๐๐๓ องค์ ได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมด.

ปรินิพพาน
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
+++


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)
วาจานุสรณ์ : พระอสีติมหาสาวก โดย ผศ.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก