หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระธรรมทินนาเถรี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๖. พระธรรมทินนาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นธรรมกถึก

พระธรรมทินนาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เป็น ภริยาของวิสาขเศรษฐี ผู้ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งพระนครราชคฤห์นั้น

ถูกสามีตัดเยื่อใยจึงออกบวช
วิสาขเศรษฐี ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้งแรก โดยการชักชวนของพระเจ้าพิมพิสาร และได้ร่วมฟังพระธรรมเทศนาด้วยกัน เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงแล้ว วิสาขเศรษฐีได้บรรลุ โสดาปัตติผล ต่อมาภายหลัง ได้ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีก และได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

เมื่อกลับจากวัดมายังบ้าน โดยปกติทุก ๆ ครั้ง นางธรรมทินนา จะยืนคอยท่าอยู่ที่เชิง บันได เมื่อวิสาขเศรษฐีมาถึง ก็ยื่นมือให้เกาะกุม แล้วขึ้นบันไดไปด้วยกัน แม้วันนั้น นางธรรมทินนาก็ยังปฏิบัติเช่นเดิม แต่ฝ่ายวิสาขเศรษฐีผู้สามี ไม่เกาะมือ และไม่แสดงอาการยิ้ม แย้ม ดังเช่นเคยทำมา แม้แต่เวลาบริโภคอาหาร ซึ่งนางคอยนั่งปฏิบัติอยู่ ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมพูด จาอะไรทั้งสิ้น ทำให้นางคิดหวั่นวิตกว่า “ตนคงจะทำผิดต่อสามี” ครั้นวิสาขเศรษฐีผู้สามี บริโภคอาหารเสร็จแล้วนางจึงถามว่า:-
“ข้าแต่นาย ดิฉันทำสิ่งใดผิดหรือ วันนี้ท่านจึงไม่จับมือ และพูดจาอะไรเลย ?”

ท่านเศรษฐีกล่าวตอบว่า:-
“ธรรมทินนา เธอไม่มีความผิดอะไรหรอก แต่นับตั้งแต่วันนี้ เราไม่ควรนั่งไม่ควรยืน ในที่ใกล้เธอ ไม่ควรถูกต้องสัมผัสเธอ และไม่ควรให้เธอนำอาหารมาให้ แล้วนั่งเคี้ยวกินในที่ใกล้ ๆ เธอ ต่อแต่นี้ไป ถ้าเธอประสงค์จะอยู่ที่เรือนนี้ ก็จงอยู่ต่อไปเถิด แต่ถ้าไม่ประสงค์จะอยู่ ก็จงรวบ รวมเอาทรัพย์สมบัติตามความต้องการแล้วกลับไปอยู่ที่ตระกูลของเธอเถิด”

นางธรรมทินนา จึงกล่าวว่า “ข้าแต่นาย ดิฉันไม่ขอรับเอาขยะหยากเยื่อ อันเปรียบ เสมือนน้ำลาย ที่ท่านถ่มทิ้งแล้วมาโดนบนศีรษะหรอก เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอท่านได้โปรดอนุญาตให้ ดิฉันบวชเถิด”

วิสาขเศรษฐี ได้ฟังคำของนางแล้วก็ดีใจ ได้กราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ขอพระราชทาน วอทอง นำนางธรรมทินนา ไปยังสำนักของนางภิกษุณี เพื่อขอบรรพชาอุปสมบท

เมื่อนางธรรมทินนา ได้บรรพชาอุปสมบท สมดังความปรารถนาแล้ว อยู่ในสำนักของ อุปัชฌาย์ (ภิกษุณีสงฆ์) เพียง ๒-๓ วัน ก็ลาไปจำพรรษาอยู่ในอาวาส ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง บำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

พระเถรีถูกอดีตสามีลองภูมิ
ต่อมาพระนางธรรมทินนาเถรี คิดว่า “กิจของเราบรรลุถึงความสิ้นสุดแล้ว เราควรกลับ ไปกรุงราชคฤห์ เพื่อหมู่ญาติได้อาศัยเรา แล้วทำบุญกุศลให้กับตนเอง”

วิสาขอุบาสก ทราบว่านางกลับมา จึงไปหานางยังที่พัก มีความประสงค์ที่จะทราบว่า นาง ได้บรรลุคุณธรรมวิเศษอย่างใด หรือไม่ แต่มิกล้าถามตรง ๆ จึงเลี่ยงถามปัญหา ว่าด้วยเรื่อง เบญจขันธ์ พระนางธรรมทินนาเถรี ก็วิสัชนาอย่างคล่องแคล่ว ชัดเจนทุกประเด็นปัญหา วิสาขอุบาสกก็ทราบว่า พระนางธรรมทินนาเถรี มีฌานแก่กล้า จึงถามปัญหาในลำดับของ พระอนาคามี ที่ตนได้บรรลุแล้ว เมื่อพระเถรีวิสัชนาได้อีก จึงก้าวล้ำถามปัญหาในวิสัย พระอรหัตมรรค

พระเถรีทราบว่า อุบาสกมีวิสัยเพียงอนาคามีนั้น แต่ถามปัญหาเกินวิสัยของตน จึงกล่าว เตือนว่า:-
“วิสาขะ ท่านยังไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้ ถ้าท่านยังหวัง ที่จะก้าวหยั่งลงสู่ ประตูพระนิพพานแล้ว ขอท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลถามข้อความนั้นเถิด เมื่อ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์อย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้น”

วิสาขอุบาสก ทำตามคำแนะนำของพระเถรี ไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลเนื้อ ความตามนัยแห่งปุจฉา และวิสัชนาถวายให้ทรงสดับทุกประการ

ทรงยกย่องเป็นผู้เลิศทางแสดงธรรม
พระผู้มีพระภาค ทรงสดับแล้วตรัสว่า:- “ธรรมทินนาเถรี ธิดาของเรานี้ ไม่มีตัณหาในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งในอดีตปัจจุบัน และอนาคต เธอเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ถ้าวิสาขอุบาสก ถามข้อความนั้นกับเรา แม้เราเอง ก็จะพยากรณ์ เหมือนอย่างที่ธรรมทินนาเถรีพยากรณ์แล้วนั้น ทุกประการ ขอท่านจงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด”

ต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาบรรดา ภิกษุณีในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ ทรงพิจารณาความสามารถในการวิสัชนาปัญหา ของพระนาง ธรรมทินนาเถรี ในครั้งนั้นเป็นเหตุ จึงทรงสถาปนาพระเถรีนี้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศ กว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้เป็นธรรมกถึก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก