หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระจูฬปันถกเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๓๕. พระจูฬปันถกเถระ เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ

พระจูฬปันถก เป็นน้องชายร่วมมารดาบิดาเดียวกัน กับท่านพระมหาปันถก เมื่อ พระมหาปันถก สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้รับความสุข จากการหลุดพ้นสิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวง แล้ว มีความปรารถนาจะให้จูฬปันถก น้องชายมีความสุขเช่นนั้นบ้าง จึงไปขออนุญาตจาก ธนเศรษฐีผู้เป็นคุณตา ซึ่งก็ได้รับอนุญาต และให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะคุณตาก็เป็นผู้มีศรัทธา ในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เมื่อจูฬปันถกได้รับการอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหาปันถก ผู้เป็นพี่ชายได้สอนคาถาพรรณนาพุทธคุณหนึ่งคาถา ความว่า...

ปทุมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ
ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ
องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ
ตปนุตมาทิจฺจมิวนฺตลฺเข ฯ
“ดอกปทุมชาติที่ชื่อว่าโกกนุท ขยายกลีบแย้มบาน ตั้งแต่เวลารุ่งอรุณยามเช้า กลิ่นเกษร
หอมระเหยไม่รู้จบ เธอจงพินิจดูพระสักยมุนีอังคีรส ผู้มีพระรัศมีแผ่ไพโรจน์อยู่ ดุจดวงทิวากร
ส่องสว่างอยู่กลางนภากาศ ฉะนั้น”

ปัญญาทึบพี่ชายไล่สึก
ด้วยคาถาเพียงคาถาเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าพระจูฬปันถก เรียนอยู่นานถึง ๔ เดือนก็ยังจำ ไม่ได้ ท่านพระมหาปันถกพี่ชาย พยายามเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็เห็นว่าท่านเป็น คนโง่เขล่าปัญญาทึบ เป็นคนอาภัพในพระพุทธศาสนา ไม่สามารถจะบรรลุคุณพิเศษเจริญรุ่ง เรืองในพระศาสนาได้ จึงตำหนิประณามท่านแล้วขับไล่ออกจากสำนักไป ด้วยคำว่า “จูฬปันถก เธอใช้เวลาถึง ๔ เดือน ยังไม่อาจเรียนคาถาแม้เพียงบาทเดียวได้ นับว่าเธอ เป็นคนอาภัพ ไม่สมควรอยู่ในพระศาสนานี้ เพียงคาถาเดียวยังเรียนไม่ได้แล้วจะทำกิจแห่ง บรรพชิตให้ถึงที่สุดได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอจงออกไปเสียจากที่นี้เถิด”

ในวันนั้น หมอชีวกโกมารภัจ ได้กราบอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปเสวยและฉันภัตตาหาร ที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น ในฐานะที่พระมหาปันถก ผู้มีหน้าที่ เป็นภัตตุทเทศก์ ได้จัดนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ ทั้งหมดในพระอาราม ในฉันภัตราหารที่บ้านของ หมอชีวกโกมารภัจ นั้น เว้นเฉพาะพระจูฬปันถก เพียงรูปเดียวเหลือไว้ในพระอาราม

พระจูฬปันถก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ในชีวิตและวาสนาของตนเอง คิดว่าตนเองเป็น อาภัพบุคคลในพระพุทธศาสนา ไม่สามารถที่จะบรรลุโลกุตรธรรมได้ จึงตัดสินใจที่จะสึกออก ไห้เป็นฆราวาส แล้วทำบุญสร้างกุศลต่างๆ ตามควรแก่ฐานะ จึงได้หลบออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ได้ทอดพระเนตรเห็นเธอเดินมาจึงตรัสถามว่า:-
“จูฬปันถก นั้นเธอจะไปไหนแต่เช้าตรู่เช่นนี้ ?”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระมหาปันถก ได้ขับไล่ข้าพระพุทธเจ้าออกจากอาราม ดังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะไปลาสิกขา พระเจ้าข้า”
“จูฬปัถก เธอมิได้บวชเพื่อที่ชาย เธอบวชเพื่อตถาคตต่างหาก เมื่อพี่ชายขับไล่เธอ เหตุ ไฉนเธอจึงไม่มาหาตถาคต การกลับไปอยู่ครองเรือน จะมีประโยชน์อะไร มาอยู่กับตถาคตจะ ประเสริฐกว่า”

พระบรมศาสดา พาเธอไปที่พระคันธกุฏี ประทานผ้าขาวบริสุทธิ์ ผืนเล็ก ๆ ให้เธอผืน หนึ่ง แล้วทรงแนะนำ ให้เธอบริกรรมด้วยคาถาว่า รโชหรณํ รโชหรณํ พร้อมกับใช้มือลูบคลำผ้า ผืนนั้นไปด้วย

เธอรับผ้ามาด้วยความเอิบอิ่มใจ แสวงหาที่สงบสงัดแล้ว เริ่มปฏิบัติบริกรรมคาถา ลูบคลำผ้า ที่พระพุทธองค์ประทานให้ เธอบริกรรมได้ไม่นาน ผ้าขาวที่สะอาดบริสุทธิ์ผืนนั้น ก็ เริ่มมีสีคล้ำ เศร้าหมอง เหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดขึ้นว่า “ผ้าผืนนี้เดิมทีมีสีขาวบริสุทธิ์ แต่อาศัยการ ถูกต้องสัมผัสกับอัตภาพของเรา จึงกลายเป็นผ้าสกปรก เศร้าหมอง สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง หนอ” แล้วเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ยกผ้าผืนนั้นขึ้นเปรียบเทียบกับอัตตภาพร่างกาย เป็นอารมณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ คือ ปัญญาอันแตกฉานมี ๔ ประการ คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

ครั้งรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จไปยังเรือนของ หมอชีวกโกมารภัจ เพื่อเสวยภัตตาหาร ตามที่หมอชีวกกราบอาราธนาไว้ เมื่อหมอชีวกน้อมนำ ภัตตาหารเข้าไปถวาย พระบรมศาสดา พระองค์ทรงปิดบาตร แล้วตรัสว่า “ยังมีพระภิกษุอีกรูป หนึ่ง อยู่ที่วัด” หมอชีวกจึงส่งคนไปนิมนต์ ให้ท่านมาฉันภัตตาหาร

ประกาศความเป็นอรหันต์
ขณะนั้น พระจูฬปันถก เพื่อจะประกาศความเป็นพระอรหันต์ของตน ให้ปรากฏ จึงได้ เนรมิตพระภิกษุขึ้น ถึงจำนวน ๑,๐๐๐ รูป ในพระอาราม อยู่ในอิริยาบถต่าง ๆ กัน บ้างก็สาธยาย พุทธคุณ บ้างก็ซักจีวร บ้างก็ย้อมจีวร เป็นต้น เมื่อคนรับใช้มาถึงวัด ได้เห็นพระภิกษุจำนวนมาก มายอย่างนั้น จึงรีบกลับไปแจ้งแก่หมอชีวก พระพุทธองค์ทรงสดับอยู่ด้วย จึงรับสั่งให้คนใช้นั้น ไปนิมนต์ ท่านที่ชื่อจูฬปันถก

คนรับใช้ไปกราบนิมนต์ ตามพระดำรัสนั้น ด้วยคำว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า พระบรมศาสดา รับสั่งให้มานิมนต์พระจูฬปันถก ขอรับ” ปรากฏว่าพระภิกษุทุกรูป ต่างก็พูดเหมือนกันว่า “อาตมา ชื่อพระจูฬปันถก” คนรับใช้ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องกลับไปกราบทูลพระบรมศาสดา ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีก พระพุทธองค์ ตรัสแนะว่า:-
“ถ้าพระภิกษุรูปใด พูดขึ้นก่อน เธอจงจับมือภิกษุรูปนั้นไว้ แล้วนำท่านมา ส่วนพระภิกษุ ที่เหลือก็จะหายไปเอง”

คนรับใช้ ปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำนั้นแล้ว ได้นำพระจูฬปันถก สู่ที่ นิมนต์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระบรมศาสดา ทรงมอบให้ท่านเป็นผู้กล่าวภัตตานุโมทนา อันเป็น การเสริมศรัทธาแก่ทายกทายิกา

บุพกรรมของพระจูฬปันถก
ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พระจูฬปันถก ได้บวชเป็นพระภิกษุ ในครั้งนั้นด้วย ท่านเป็นผู้มีปัญญาดี จำทรงหลักธรรมคำสอนได้เร็ว แม่นยำ ท่านเห็นเพื่อนภิกษุ รูปหนึ่ง ซึ่งปัญญาทึบ ท่องสาธยายหัวข้อธรรมเพียงบทเดียว ก็จำไม่ได้ จึงหัวเราะเยาะท่าน ทำให้ ภิกษุรูปนั้น เกิดความอับอาย เลิกเรียนสาธยายหัวข้อธรรมนั้น เพราะกรรมเก่าในครั้งนั้นจึงเป็นผล ติดตาม ให้ท่านมีปัญญาทึบโง่เขลาในอัตภาพนี้

พระจูฬปันถก สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เป็นกำลังช่วยกิจการพระศาสนา ตามความ สามารถของท่าน และโดยที่ท่านเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในมโนมยิทธิ พระบรมศาสดาจึงทรงยก ย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ

ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระจูฬปันถกเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก