หน้าหลัก พระพุทธเจ้า เมืองสำคัญในพุทธประวัติ เมืองสาวัตถี
Search:

“ ....ตถาคตมีวิชชาและ วิมุติเป็นผลานิสงส์อยู่
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้วย่อมยัง วิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
สติปัฎฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้วยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้วยังมีสติปัฎฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์”

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

ปัจฉิมโอวาท:
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลาย ให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั่งปวงมีความเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

หนังสือ พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน
อาจารย์วศิน อินทสระ

หน้าแรก : หมวดพระพุทธเจ้า
สาวัตถี | ราชคฤห์ | สังกัสสะ | เวสาลี | ปาตลีบุตร | คยา | โกสัมพี | กบิลพัสดุ์ | เทวทหะ | เกสาริยา | ปาวา | พาราณสี | นาลันทา
เมืองสาวัตถี
เมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษามากที่สุดกว่า 25 พรรษา
สาวัตถี (อังกฤษ: Sravasti) คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ใน แคว้นมหาอำนาจใน 16 มหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขาย การทหาร เป็นเมืองมหาอำนาจใหญ่ควบคู่กับเมืองราชคฤห์แห่งแคว้นมคธในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซากโบราณสถาน คนอินเดียในปัจจุบันลืมชื่อเมืองสาวัตถี (ในภาษาบาลี) หรือ ศราวัสตี (ในภาษาสันสกฤต) ไปหมดแล้ว คงเรียกแถบตำบลที่ตั้งเมืองสาวัตถีนี้ เพียงว่า สะเหต-มะเหต (Saheth-Maheth) ปัจจุบัน สะเหต-มะเหต ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

เมืองสวัตถีในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองที่ใหญ่พอกับเมืองราชคฤห์และพาราณสี เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายในสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้น เมืองสาวัตถีมีพระเจ้าปเสนทิโกศล ปกครองร่วมสมัยกับพระเจ้าพิมพิสาร นอกจากนี้เมืองสาวัตถีนับว่าเป็นเมืองสำคัญในการเป็นฐานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่สำคัญ เพราะเป็นเมือง ที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด ถึง 25 พรรษา เป็นที่ตรัสพระสูตรมากมายและเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนามั่นคงที่สุด เพราะมีผู้อุปถัมภ์สำคัญ เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น

สาวัตถี ปัจจุบันยังมีซากโบราณสถานที่สำคัญปรากฏร่องรอยอยู่ คือวัดเชตวันมหาวิหาร (ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ถึง 19 พรรษา), บริเวณวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล, บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี (สถูป), บ้านบิดาขององคุลีมาล (สถูป), สถานที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ (หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร), ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ เป็นต้น

เมืองสาวัตถี : ในสมัยพุทธกาล
เมืองสาวัตถีมีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองหลวง ของแคว้นโกศลมาแต่ก่อนพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลเมืองสาวัตถีมีพระเจ้าปเสนทิโกศลปกครอง เมืองสาวัตถี ในการปกครองของพระเจ้าปเสนทิโกศล มีความสงบและรุ่งเรืองมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้า เสด็จมาประทับจำพรรษาที่เมืองแห่งนี้มากที่สุดกว่า 25 พรรษา

สาเหตุสำคัญที่พระพุทธเจ้าเลือกเมืองนี้เป็นสถานที่จำพรรษานานที่สุด เพราะว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นพระญาติกับพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ โดยพระนางเวเทหิอัครมเหสี ของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระกนิษฐาของพระองค์เอง (พระเจ้ามหาโกศล พระราชบิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล ส่งพระนางเวเทหิไปอภิเษกสมรสกับพระเจ้าพิมพิสาร และมอบเมือง ในแคว้นกาสีให้พระเจ้าพิมพิสาร เพื่อเป็นของขวัญ ทำให้เมืองสาวัตถี และเมืองราชคฤห์เป็นไมตรีกัน จนสิ้นรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ทำให้พระพุทธเจ้าสามารถมาเผยแพร่ พระพุทธศาสนา ในเมืองสาวัตถีได้สะดวก เพราะพระเจ้าปเสนทิโกศลย่อมมีความเกรงใจในพระศาสด าของพระเจ้าพิมพิสารซึ่งเป็นพระญาติของพระองค์เอง ซึ่งต่อมา คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับพระธรรมเทศนาจนบรรลุเป็นพระโสดาบัน และเป็นองค์อัครพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญองค์หนึ่ง โดยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่เป็นสหชาติ (คือเกิดปีเดียวกันกับพระพุทธเจ้า) และมีความรักเคารพและมีความสนิทสนมกับพระพุทธองค์มาก โดยทรงสร้างมหาสังฆารามถวาย คือ ราชการามมหาวิหาร ซึ่งความสนิทสนมของพระเจ้าปเสนทิโกศล กับพระพุทธองค์นั้น ปรากฏในหลายเหตุการณ์เช่น ทรงเข้ามาจูบกอดพระบาทของพระพุทธเจ้า (ส่วนใหญ่เหตุการณ์เหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ใน ธรรมเจดีย์สูตร โดยพระราชดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลทั้งพระสูตร แสดงถึงเหตุผลที่พระองค์ทรงรัก และเคารพพระพุทธเจ้า โดยเปรียบเทียบกับลัทธิศาสนาอื่นไปด้วย) หรือตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยกล่าว ตักเตือนพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า กินจุเหมือนหมู ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสนิทสนมกับพระพุทธองค์ได้อย่างดี และถึงแม้พระเจ้าปเสนทิโกศล จะศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แต่ทว่าพระองค์ไม่ได้กีดกั้นผู้นับถือศาสนาอื่นแต่อย่างใด และยังคงให้ความอุปถัมภ์บำรุงศาสนาอื่นเป็นอย่างดี

รูป – ซากมูลคันธกุฎีสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า ที่วัดเชตวันมหาวิหาร

นอกจากนี้ เมืองสาวัตถี มีมหาอุบาสกมหาอุบาสิกาหลายคน เช่น อนาถบิณฑิกะเศรษฐี, นางวิสาขามหาอุบาสิกา ซึ่งมีความเคารพรักศรัทธา สร้างมหาสังฆารามวัดเชตวันมหาวิหาร (ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี) และวัดบุพพารามมหาวิหาร (ของนางวิสาขา) และให้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ด้วยเหตุหลายประการดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาประทับที่เมืองนี้มากที่สุด โดยมาทรงประทับอยู่ถึง 25 พรรษา โดยแบ่งเป็น 19 พรรษาที่วัดเชตวันมหาวิหาร และอีก 6 พรรษาที่วัดบุพพาราม

เนื่องด้วยพระพุทธองค์ประทับที่เมืองสาวัตถีนานที่สุด จึงทำให้เป็นเมืองที่เกิดพระสูตรมากมาย เช่น มงคลสูตร ธรรมนิยามสูตร รวมไปถึงกาลามสูตร ที่ทรงตรัสแสดง ณ เกสปุตตนิคม ก็อยู่ในอาณาเขตของแคว้นโกศลด้วย

ในช่วงปลายพุทธกาล ได้เกิดเหตุการณ์ที่พระเจ้าอชาตศัตรู ทำปิตุฆาต ปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์เอง ทำให้พระนางเวเทหิ อัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เสียพระทัยจนสิ้นพระชนม์ตามกันไป พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกริ้วพระเจ้าอชาตศัตรูมาก จึงสั่งยึดเมืองในแคว้นกาสี ที่พระเจ้ามหาโกศลยกให้พระเจ้าพิมพิสารคืน โดยทรงถือว่า ผู้ฆ่าพ่อไม่มีสิทธิ์ได้รับสมบัติพ่อ และได้ทำสงครามกัน ผลัดกันแพ้ชนะ จนสุดท้ายพระเจ้าปเสนทิโกศลชนะ จับพระเจ้าอชาตศัตรูได้ แต่ไม่ประหารชีวิต เพราะเห็นแก่เป็นพระนัดดา แต่สั่งให้สละราชสมบัติแทน และต่อมาก็ทรงให้พระเจ้าอชาตศัตรู กลับไปครองราชสมบัติอีกด้วยคงเห็นพระทัย โดยในครั้งนั้น ได้ทรงส่งพระราชธิดาของพระองค์ให้ไปอภิเษกด้วย ทั้งสองแคว้นจึงกลัยมามีสัมพันธไมตรีกันอีกครั้ง ทำให้เมืองสาวัตถีและเมืองราชคฤห์ กลับเป็นไมตรีกันจนสิ้นรัชกาลของพระปเสนทิโกศล

ในช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกพระเจ้าวิฑูฑภะพระราชโอรสของพระองค์เองยึดอำนาจ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงม้าหนีไปเมืองราชคฤห์กับผู้ตามเสด็จอีกหนึ่งคน โดยหวังให้พระเจ้าอชาตศัตรูช่วยเหลือเพื่อนำราชสมบัติคืน แต่พระองค์เสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ในเวลากลางคืน ไม่สามารถเข้าประตูเมืองได้ ทำให้พระองค์เสด็จสวรรคตในคืนนั้นเอง เพราะต้องประทับค้างแรมอยู่ข้างนอกที่มีอากาศหนาว ในขณะที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยจากการหลบหนีและมีพระชนม์มากถึง 80 พรรษา เมื่อถึงเวลาเช้าพระเจ้าอชาตศัตรู ซึ่งพึ่งทราบข่าวจึงอัญเชิญพระศพไปถวายพระเพลิง

สาวัตถี : หลังพุทธปรินิพพาน
หลังจากพระเจ้าปเสนทิโกศลสวรรคต และหลังพระพุทธปรินิพพาน พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ ได้เริ่มทำสงครามยึดแว่นแคว้นต่าง ๆ และได้กำจัดแคว้นวัชชีได้สำเร็จ และหลังจากกำจัดแคว้นวัชชีได้ไม่นาน พระองค์จึงได้ยกทัพมายึดเมืองสาวัตถีไว้ในอำนาจได้สำเร็จ เมืองสาวัตถีจึงสิ้นสุดความสำคัญ ในฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้นโกศล ในรัชกาลพระเจ้าวิฑูฑภะ และหลังจากนั้นการค้า ฯลฯ อำนาจต่าง ๆ ได้ไปรวมศูนย์ที่เมืองราชคฤห์ และสุดท้ายที่เมืองปาฏลีบุตรในฐานะเมืองหลวงแห่งแคว้น แต่วัดเชตวันมหาวิหาร ยังคงเป็นศูนย์กลางสำคัญทางศาสนาอยู่ แต่ทว่าจนในที่สุดหลังพุทธสตวรรษที่ 18 เมืองสาวัตถีได้เสื่อมความสำคัญ และถูกทิ้งร้างไปโดยสิ้นเชิง จนเหลือแต่ซากโบราณสถานในปัจจุบัน

สาวัตถี : ในปัจจุบัน
กำแพงเมืองสาวัตถีโบราณยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานคงเหลืออยู่มากมาย เช่น ซากบ้านของบิดาพระองคุลีมาล, ซากคฤหาสถ์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี, และวัดเก่าแก่ที่สร้างอุทิศแก่ พระติรธังกร (ศาสดาองค์แรกของศาสนาเชน) บริเวณนอกเขตเมืองสาวัตถียังมีสถานที่สำคัญ เช่น ซากยมกปาฏิหาริย์สถูป (สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์) และวัดเชตวันมหาวิหาร (พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา) ซึ่งเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญ ของชาวพุทธทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีวัดที่ประเทศต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธมาสร้างไว้ ได้แก่ ประเทศไทย เกาหลีใต้ ศรีลังกา พม่า ธิเบตและจีน

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก