หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
เอตทัคคะ แปลว่า “นั่นเป็นยอด”, “นี่เป็นเลิศ”, ได้แก่ บุคคลหรือสิ่งที่ยอดเยี่ยม ดีเด่น หรือ เป็นเลิศ ในทางใดทางหนึ่ง เช่น ในพุทธพจน์ (องฺ.เอก.๒๐/๑๔๖/๓๑) ว่า “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว มม สาวกานํ ภิกฺขูนํ รตฺตญฺญูนํ ยทิทํ อญฺญาโกณฺฑญฺโญ” (ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้รัตตัญญู อัญญาโกณฑัญญะนี่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม), (องฺ.เอก.๒๐/๗๘/๑๗) ว่า “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ” (ภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเจริญทั้งหลายความเจริญเพิ่มพูนปัญญานี่ เป็นเยี่ยม), (องฺ.นวก.๒๓/๒๐๙/๓๗๗) ว่า “เอตทคฺคํ ภิกฺขเว ทานานํ ยทิทํ ธมฺมทานํ” (ภิกษุทั้งหลาย ในบรรดาทานทั้งหลาย ธรรมทานนี้เป็นเลิศ)

ตามปกติ มักหมายถึง พระสาวกที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง เช่น เป็นเอตทัคคะในทางธรรมกถึก หมายความว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางแสดงธรรม เป็นต้น

ดังนั้น เอตทัคคะ จึงหมายถึง ผู้ประเสริฐสุดในทางใดทางหนึ่ง เป็นตำแหน่งทางพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ประทานแต่งตั้ง ให้พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความรู้ความสามารถ เด่นกว่าท่านอื่นๆ ในด้านนั้นๆ และแต่ละตำแหน่ง พระพุทธองค์ประทานแต่งตั้งเพียง รูปเดียว ท่านเดียวเท่านั้น

เหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องพุทธบริษัททั้ง ๔ ไว้ในตำแหน่ง คือ
      ๑. ได้รับการยกย่องตามเรื่องที่เกิดขึ้น ( อัตถุปปัตติโต ) ได้แสดงความ สามารถให้ปรากฏ โดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
      ๒. ได้รับการยกย่องตามที่ได้สะสมบุญมาในอดีตชาติ ( อาคมันโต ) ได้สร้างบุญสะสมในด้านนั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิต ปราถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งนั้นด้วย
      ๓. ได้รับการยกย่อง ตามความเชี่ยวชาญ ( จิณณวสิโต ) มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นพิเศษ
      ๔. ได้รับการยกย่องตามความสามารถเหนือผู้อื่น ( คุณาติเรกโต ) มีความสามารถ ในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ เหนือกว่าผู้อื่นที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน

เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา
๑. หมวด ภิกษุบริษัท ๔๑ ท่าน
๒. หมวด ภิกษณีบริษัท ๑๓ ท่าน
๓. หมวด อุบาสกบริษัท ๑๐ ท่าน
๔. หมวด อุบาสิกาบริษัท ๑๐ ท่าน

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก