หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ นางอุตตรานันทมารดา
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๕. นางอุตตรานันทมารดา เอตทัคคะในฝ่ายผู้เพ่งด้วยฌาน

นางอุตตรา เกิดเป็นลูกสาวของนายปุณณะ ซึ่งเป็นคนรับใช้ อยู่ในเรือนของสุมนเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ เขาเป็นคนขยันในการทำงาน แม้ในวันเทศกาล งานนักขัตฤกษ์ พวกทาสและ กรรมกรอื่น ๆ พากันหยุดงาน เพื่อฉลองนักขัตฤกษ์กัน แต่นายปุณณะก็ยังคงไปทำการไถนาตาม หน้าที่ของตนตามปกติ

ขณะที่เขากำลังไถนาอยู่นั้น พระสารีบุตรเถระ เมื่อจากออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ได้ถือ บาตรเที่ยวเดินภิกขาจารผ่านมายังทุ่งนา ที่นายปุณณะกำลังไถอยู่นั้น นายปุณณะพอเห็นพระเถระ ก็หยุดไถ แล้วเข้าไปกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วถวายน้ำบ้วนปาก และไม้สีฟัน พระเถระทำ กิจสีฟันและบ้วนปาก แล้วเดินภิกขาจารต่อไป นายปุณณะคิดว่า “เหตุที่พระเถระมาทางนี้ ในวัน นี้ ก็คงจะมาสงเคราะห์เรา ถ้าภริยาของเราได้พบพระเถระแล้ว ขอให้นางได้ใส่อาหาร ที่จะนำมาให้เรา ลงในบาตรของพระเถระด้วยเถิด”

ส่วนภริยาของเขา เมื่อนำอาหารไปส่งให้เขาที่นา ในระหว่างทางได้พบพระเถระจึงคิดว่า “วันอื่น ๆ เราพบพระเถระ แต่ไทยธรรมของเราไม่มี ส่วนในวันที่มีไทยธรรม ก็ไม่ได้พบพระเถระ แต่วันนี้ทั้งสองอย่างของเรามีพร้อมแล้ว เราควรถวายอาหารที่เตรียมไปให้สามี แก่พระเถระก่อน แล้วจึงกลับไปทำมาใหม่” เมื่อนางคิดดังนี้แล้ว ก็ใส่โภชนาหารลงในบาตรของพรเถระ แล้วกล่าว ว่า “ด้วยอานิสงส์แห่งทานนี้ ขอให้ชีวิตขอดิฉัน พ้นจากความยากจนด้วยเถิด” พระเถระกล่าว อนุโมทนาให้ความปรารถนาของนาง สำเร็จตามที่ต้องการแล้วก็กลับไปสู่วิหาร

เมื่อนางได้ถวายอาหารแก่พระเถระแล้ว ก็รีบกลับบ้านเพื่อจัดหาอาหารมาให้สามีของ ตน ฝ่ายนายปุณณะไถนาเรื่อยไป จนเวลาสาย ภริยาก็ยังไม่นำอาหารมาส่งเช่นทุกวัน รู้สึกหิวเป็น กำลัง จึงหยุดไถแล้วนอนพักที่ใต้ร่มไม้ เมื่อภริยามาถึงนา ก็เกรงว่าสามีจะโกรธที่มาช้า จึงรีบพูด กับสามีขึ้นก่อนว่า “ท่านอย่าเพิ่งโกรธ ขอให้ฟังดิฉันก่อน” แล้วนางก็เล่าเหตุที่มาช้าให้สามีฟัง โดยตลอด นายปุณณะกล่าวว่า “เธอทำดีแล้ว แม้ฉันเองก็ได้ถวายน้ำบ้วนปาก และไม้สีฟันแก่ พระเถระเหมือนกัน วันนี้ นับว่าเป็นบุญของเราเหลือเกิน” ทั้งสองสามีภรรยานั้น ต่างก็ปีติอิ่มเอิบ ในการกระทำของตน

ขี้ไถกลายเป็นทอง
นายปุณณะ กินอาหารเสร็จแล้ว ก็นอนหนุนตักภริยาแล้วก็หลับไปครู่หนึ่ง พอตื่นขึ้นมา มองไปที่ทุ่งนา เห็นก้อนดินที่ตนไถ มีสีเหมือนทองคำเต็มทั่วท้องนา จึงบอกให้ภริยาดูด้วย ภริยา เมื่อมองดูก็เห็นมีแต่ก้อนดินจึงพูดขึ้นว่า “ท่านคงจะเหน็ดเหนื่อย และหิวจนตาลาย” แต่เมื่อเขา ลุกไปหยิบมาให้ภริยาดู ต่างก็เห็นเป็นทองเหมือนกัน

สองสามีภรรยา เก็บทองใส่ถาดจนเต็มแล้ว นำไปถวายพระราชา พร้อมทั้งกราบทูลให้ส่ง คนไปขนทองคำ ที่ทุ่งนาของตนนั้น มาเก็บไว้ในท้องพระคลัง พระราชาสั่งราชบุรุษ พร้อมเกวียน ไปบรรทุกทองคำ ตามที่นายปุณณะ กราบทูลราชบุรุษทั้งหลาย ในขณะที่กำลังขนทองคำใส่ เกวียนนั้น พากันพูดว่า “บุญของพระราชา” ทันใดนั้น ทองคำก็กลายเป็นดินขี้ไถเหมือนเดิม

พวกราชบุรุษจึงกลับไปกราบทูลให้ทรงทราบ พระราชารับสั่งว่า “พวกท่านจงไปขนมาใหม่ พร้อมกับจงพูดว่า บุญของนายปุณณะ” พวกราชบุรุษทำตามรับสั่ง ก็ปรากฏว่าได้ทองคำมา หลายเล่มเกวียน นำมากองที่หน้าพระลานหลวง พระราชารับสั่งถามว่า ในพระนครนี้ ใครมี ทรัพย์มากเท่านี้บ้าง เมื่อได้สดับว่าไม่มี จึงพระราชทานตำแหน่งเศรษฐี แก่นายปุณณะ ได้นามว่า “ธนเศรษฐี” พร้อมทั้งมอบทองคำทั้งหมด ให้แก่นายปุณณะด้วย

นายปุณณะเศรษฐี เมื่อทำการมงคลฉลองตำแหน่งเศรษฐี ได้กราบอาราธนาพระบรม ศาสดา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นเวลา ๗ วัน พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุโมทนาทาน นายปุณณเศรษฐีพร้อมด้วยภริยาและธิดา ได้บรรลุ โสดาปัตตผล

นางอุตตราถูกน้ำมันเดือดราดศรีษะ
ในกาลต่อมา ราชคหเศรษฐี ได้ส่งคนไปสู่ขอนางอุตตราธิดาของนายปุณณะ เพื่อทำอา วาหมงคลกับบุตรของตน เมื่อนายปุณณะ ไม่ขัดข้องจึงได้จัดพิธีอาวาหมงคล เป็นที่เรียบร้อย นาง ได้มาอยู่ในตระกูลของสามี เมื่อถึงฤดูกาลเข้าพรรษานางกล่าวกับสามีว่า ปกตินางจะอธิษฐานองค์ อุโบสถเดือนละ ๘ วัน ขอให้สามีอนุญาตให้นางด้วย แต่สามีไม่อนุญาต นางจึงส่งข่าวไปถึงบิดา มารดาว่า นางถูกส่งตัวให้ไปอยู่ในที่คุมขัง ไม่สามารถจะอธิษฐานองค์อุโบสถ แม้สักวันเดียว ขอ ให้บิดามารดา ช่วยส่งทรัพย์ไปให้นางจำนวน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะด้วยเถิด

เมื่อนางได้ทรัพย์ ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็ได้ไปหานางสิริมา ซึ่งเป็นหญิงโสเภณี ประจำนครนั้น ได้เจรจาติดตามขอให้ช่วยเป็นตัวแทน ในการบำรุงบำเรอสามีของนางเองเป็น เวลา ๑๕ วัน แล้วมอบทรัพย์ให้นาง ๑๕,๐๐๐ กหาปณะ นางสิริมาก็ตกลงยอมรับ และสามีของ นางก็พอใจ อนุญาตให้นางอธิษฐานองค์อุโบสถได้ตามความปรารถนา

เมื่อสามีอนุญาตแล้ว นางอุตตราจึงได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาและพระภิกษุ สงฆ์ เพื่อเสวยและฉันภัตตาหาร ที่บ้านของตน เป็นเวลา ๑๕ วัน นางพร้อมด้วยทาสีผู้เป็นบริวาร ช่วยกันจัดของเคี้ยวของฉัน อันควรแก่สมณบริโภค น้อมนำเข้าไปถวายพระบรมศาสดา พร้อมด้วย พระภิกษุสงฆ์ อธิษฐานองค์อุโบสถ ครบกำหนดกึ่งเดือนโดยทำนองนี้

ในวันสุดท้าย ของการรักษาอุโบสถ ขณะที่นางอัตตรากำลังขวนขวายจัดแจงภัตตาหาร อยู่นั้น สามีของนางกับนางสิริมา ยืนดูอยู่ที่หน้าต่างบนปราสาทพลางคิดว่า “นางอุตตราหญิงโง่ คนนี้ คงจะเกิดมาจากสัตว์นรก ชอบทำการงานสกปรก เหมือนทาสีทั้งหลาย ทรัพย์สมบัติก็มีอยู่ มากมาย แต่กลับไม่ยินดี นางทำอย่างนี้ไม่สมควรเลย” คิดดังนี้แล้ว ก็แสดงอาการยิ้มแย้มเป็นเชิง เยาะเย้ย

ส่วนนางอุตตราผู้เป็นภริยาก็คิดว่า “บุตรเศรษฐีผู้เป็นสามีของเรานี้ มีปกติประมาท โง่ เขลา สำคัญว่าทรัพย์สมบัติของตนเหล่านี้ เป็นของยั่งยืนถาวรตลอดไป” แล้วนางก็แสดงอาการ แย้มยิ้มบ้าง

นางสิริมา ซึ่งยืนอยู่กับบุตรเศรษฐีนั้น เห็นสองสามีภรรยายิ้มแย้มด้วยกันดังนั้น ก็โกรธ จึงรีบลงมาจากปราสาท เพื่อจะทำร้ายนางอุตตรา แม้นางอุตตราเห็นกิริยาอาการของนางสิริมานั้น แล้วก็ทราบดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น นางจึงเข้าฌานทั้ง ๆ ที่กำลังยืนอยู่ เจริญเมตตาจิตเป็นอารมณ์ แผ่ เมตตาไปยังนางสิริมานั้น

นางสิริมา ได้จับกระบวยตักน้ำมัน ที่กำลังเดือดอยู่ในกระทะแล้ว เทราดลงบนศีรษะของ นางอุตรา ที่กำลังเข้าฌาน และแผ่เมตตาจิตอยู่ ด้วยอำนาจแห่งเมตตา ฌานบันดาลให้น้ำมันที่กำลัง ร้อนจัดนั้น ได้ปราศจากความร้อน และไหลตกไป ประหนึ่งน้ำตกจากใบบัว นางสิริมาเห็นเช่น นั้น จึงตกใจกลับได้สติ สำนึกตัวว่าเป็นผู้มาอยู่เพียงชั่วคราว จึงกราบลงแทบเท้านางอุตตรา วิงวอนขอให้ยกโทษให้ แต่นางอุตตรากล่าวว่า “ฉันจะยกโทษให้ ก็ต่อเมื่อบิดาของฉัน คือพระ บรมศาสดายกโทษให้เธอก่อนเท่านั้น”

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาพร้อมภิกษุสงฆ์ ประทับบนพุทธอาสน์ เพื่อเสวยภัตตาหาร ณ ที่บ้านนของนางอุตตราในเช้าวันนั้น นางสิริมาได้กราบทูลกิริยา ที่ตนกระทำต่อนางอุตตราให้ ทรงทราบโดยตลอดแล้ว กราบทูลขอให้ทรงยกโทษให้ เมื่อพระบรมศาสดาทรงยกโทษให้แล้ว ก็ เข้าไปหานางอุตราให้ยกโทษให้อีกครั้งหนึ่ง

พระบรมศาสดาเมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุโมทนา ตรัสพระคาถา ภาษิตว่า:-
พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่มีด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเท็จด้วยคำจริง ฯ


เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางสิริมาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นอุบาสิกาให้ ทานรักษาศีลและฟังธรรม ตามกาลเวลา พระบรมศาสดาอาศัยเหตุที่นางอุตตรา เป็นผู้เชี่ยวชาญใน การเข้าฌาน จึงประกาศยกย่องให้นางเป็นเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ เพ่งด้วยฌาน หรือผู้เข้าฌาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก