หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ นางขุชชุตตรา
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๓. นางขุชชุตตรา เอตทัคคะในฝ่ายผู้แสดงธรรม

สาวพิการหลังค่อม

นางขุชชุตตรา เป็นลูกสาวของหญิงแม่นมในเรือนโฆสกเศรษฐี ในกรุงโกสัมพี เป็น หญิงพิการหลังค่อม ต่อมาเมื่อโฆสกเศรษฐี ได้ยกนางสามาวดีผู้เป็นหญิงกำพร้า ให้อยู่ในฐานะ เป็นธิดาของตนแล้ว ได้มอบหญิง ๕๐๐ คน ให้เป็นบริวารของนางอีกด้วย และนางขุชชุตตราก็ ได้เป็นบริวารของนางด้วยเช่นกัน เมื่อนางสามาวดี ได้รับการอภิเษก เป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพี หญิงบริวารทั้งหมด ก็ติดตามเข้าไปรับใช้นางในพระราชนิเวศน์ด้วย และ พระเจ้าอุเทน ได้พระราชทานทรัพย์ ๘ กหาปณะ แก่นางขุชชุตตรา เพื่อจัดซื้อดอกไม้ ให้แก่ นางสามาวดีทุกวัน

โฆสกเศรษฐีสร้างวัดถวาย
ในกรุงโกสัมพีนั้นมีเศรษฐี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี กุกกุฎเศรษฐี และ ปาวาริกเศรษฐี ทั้ง ๓ ท่านนี้ เป็นสหายกัน ต่างก็มีศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา ได้ฟังพระธรรมเทศนา จนได้ บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกัน และได้สร้างวัดขึ้น ท่านละหนึ่งวัด โดยของ โฆสกเศรษฐีชื่อว่า โฆสิตาราม ของกุกกุฏเศรษฐี ชื่อว่า กุกกฏาราม และของปาวาริกเศรษฐีชื่อว่า ปาวาริการาม

เศรษฐีทั้ง ๓ ท่านนี้ มีคนรับใช้ชื่อนายสุมนะ เป็นผู้จัดการตกแต่งสวนดอกไม้ เนื่องจากเขามีความ ฉลาด ความสามารถในด้านนี้ จึงได้ชื่อว่า “สุมนมาลาการ” แม้นางขุชชุตตราก็มาซื้อดอกไม้จาก นายสุมนะนี้ทุกวัน

นางขุชชุตตราบรรลุโสดาบัน
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จมายังเมืองโกสัมพี โดยมีพระอานนท์เถระ เป็นปัจฉาสมณะ ตามเสด็จมาด้วย พระพุทธองค์ประทับ ณ อารามของเศรษฐีทั้ง ๓ ท่าน และเสด็จเข้าไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเศรษฐีทั้ง ๓ ท่านนั้นโดยผลัดเปลี่ยนไปตามวาระ ตามที่ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนา

วันหนึ่ง นายสุมนะขอโอกาสแก่ท่านเศรษฐี เพื่อกราบทูลอาราธนา พระบรมศาสดาเสด็จ ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อเศรษฐีอนุญาตให้สมประสงค์แล้ว จึงจัดการตกแต่ง เสนาสนะและภัตตาหาร ขณะที่เขากำลังจัดเตรียมการอยู่นั้น นางขุชชุตตราก็มาถึง นายสุมนะ กล่าวกับเธอว่า “วันนี้ ขอให้รออยู่ก่อน เพราะตนได้กราบทูลอาราธนา พระบรมศาสดามาเสวย ภัตตาหารที่บ้าน และขอให้นางช่วยเหลือ ในการจัดภัตตาหารด้วย เมื่อเสร็จแล้ว จึงค่อยรับดอกไม้ ไป” ซึ่งนางขุชชุตตรา ก็ตอบรับด้วยความยินดี

เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุโมทนา นางขุชชุตตรา ก็ได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนานี้ด้วย นางส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนา เมื่อจบลงก็ได้ บรรลุโสดาปัตติผล

ตามปกติในวันอื่น ๆ ที่แล้วมา นางขุชชุตตรา จะซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปณะ และเก็บ เอาไว้เอง ๔ กหาปณะ แต่วันนี้ นางซื้อดอกไม้ทั้ง ๘ กหาปณะ นางสามาวดี เห็นว่าวันนี้ ได้ดอกไม้ มากกว่าทุก ๆ วัน จึงถามนางขุชชุตตรา ขึ้นว่า
“ทำไมวันนี้ จึงได้ดอกไม้มากกว่าปกติ”

นางขุชชุตตรา ได้บอกตามความเป็นจริงว่า “เมื่อก่อนนั้น ได้ยักยอกเงินไว้เพื่อตนเองครึ่ง หนึ่ง แต่วันนี้ หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนา จากพระบรมศาสดาจนบรรลุอมตธรรมแล้ว เห็นว่า การกระทำอย่างนั้นไม่ควร จึงได้ซื้อดอกไม้ทั้ง ๘ กหาปณะ”

เป็นอาจารย์สอนธรรม
นางสามาวดี เมื่อทราบความโดยตลอดแล้ว ก็มิได้ว่ากล่าวติเตียนต่อนางขุชชุตตรา แต่ ประการใด กลับขอให้นางได้แสดงธรรม ที่ได้ฟังมาจากพระบรมศาสดาให้ตน และบริวารอื่น ๆได้ฟังบ้าง ซึ่งนางขุชชุตตรา ก็ตอบรับด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ขอโอกาสอาบน้ำ ชำระร่าง กาย และประดับตกแต่งร่างกายพอสมควรแก่ฐานะ แล้วนั่งบนอาสนะ ที่สูงกว่าหญิงทั้งปวง แสดง ธรรมไปโดยลำดับ ตามที่ตนได้ฟังมาจากพระบรมศาสดา เมื่อจบลงแล้ว หญิงเหล่านั้นทั้งหมด มี นางสามาวดีเป็นหัวหน้า ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันพร้อม ๆ กัน

หลังจากนั้น นางขุชชุตตราได้รับการยกฐานะ จากการเป็นทาสีคอยรับใช้นางสามาวดี ให้ ดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ ของนางสามาวดี และหญิงบริวารเหล่านั้น มีหน้าที่ไปรับฟัง พระธรรมเทศนา จากพระบรมศาสดาแล้ว นำมาแสดงให้นางสามาวดีกับบริวารฟัง นางขุชชุตตรา กระทำดังนั้น จนนางเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก

บุพกรรมล้อเลียนพระ
สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถาม พระบรมศาสดาว่า:- “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นหญิงหลังค่อม พระเจ้าข้า ?”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เป็นผู้มีสภาพร่างกาย เป็น คนค่อมนิดหน่อย มาฉันภัตตาหารในราชสำนักเป็นประจำ นางกุมาริกานางหนึ่ง แสดงอาการเป็น คนค่อม ล้อเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความคึกคะนอง ต่อหน้าเพื่อนกุมาริกาทั้งหลาย เพราะกรรมนั้น จึงส่งผลให้เธอเป็นคนค่อมในอัตภาพนี้”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นทางทาสีของบุคคลอื่น พระเจ้าข้า ?”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีต ครั้งที่พระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ นางได้เกิดในตระกูล เศรษฐีในเมืองพาราณสี มีภิกษุณีผู้เป้นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคย กับตระกูลของนาง มาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ขณะนั้นนางกำลังแต่งตัวอยู่ ได้ออกปาก ขอให้พระเถรีช่วยหยิบกระเช้า เครื่องประดับส่งให้ พระเถรีนั้นคิดว่า “ถ้าเราไม่หยิบส่งให้ นางก็จักโกรธอาฆาตเรา เพราะกรรมนี้ เมื่อนางตายไปแล้ว ก็จะไปเกิดในนรก แต่ถ้าเราหยิบส่งให้ นางก็จักเกิดเป็นหญิงรับใช้คนอื่น เพราะกรรมที่ใช้พระอรหันต์ “ นางภิกษุณี จึงเลือกกรรมสถานเบา เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ต่อนาง จึงได้หยิบกระเช้าส่งให้ เพราะ กรรมนี้ นางจึงเกิดเป็นหญิงรับใช้บุคคลอื่น”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงมีปัญญามากและบรรลุพระ โสดาปัตติผล ?”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติ ครั้งเดียวกันนั้น พระราชาได้ถวายข้าวปายาส ที่ยังร้อน อยู่ ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องเปลี่ยนมือถือบาตร กลับไป กลับมา ด้วยความร้อน นางจึงถอดกำไล ที่ทำด้วยงาจากข้อมือ ๘ อัน ถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้สำหรับรองมือ กันความร้อน ด้วยผลแห่งกรรมที่นางถวายกำไลข้อมือ และกรรมที่ช่วยบำรุง อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ทำให้นางมีปัญญามาก และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล”

เพราะความที่นางขุชชุตตราเป็นผู้มีปัญญามา สามารถแสดงธรรมได้อย่างไพเราะลึกซึ้ง ดีกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้แสดงธรรม

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก