หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ อนาถปิณฑิกเศรษฐี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๒. อนาถปิณฑิกเศรษฐี เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายก

อนาถบิณฑิกเศรษฐี เกิดในตระกูลมหาเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี บิดาชื่อว่า “สุมนะ” มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เมื่อเกิดมาแล้วบรรดาหมู่ญาติได้ตั้งชื่อให้ว่า “สุทัตตะ” เป็น คนมีจิตเมตตาชอบทำบุญให้ทาน แก่คนยากจนอนาถา

ได้ชื่อใหม่เพราะให้ทาน
เมื่อบิดามารดาของท่านล่วงลับไปแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งเศรษฐีแทน ให้ตั้งโรงทานที่ หน้าบ้านแจกอาหารแก่คนยากจนทุกวัน จนกระทั่งประชาชนทั่วไป เรียกท่านตามลักษณะนิสัย ว่า “อนาถบิณฑิกะ” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา” และได้เรียกกันต่อมาจนบาง คนก็ลืมชื่อเดิมของท่านไปเลย

ท่านอนาถบิณฑิกะ ทำการค้าขาย ระหว่างเมืองสาวัตถี กับเมืองราชคฤห์เป็นประจำ จนมีความสนิทสนม คุ้นเคยกับเศรษฐีเมืองราชคฤห์ นามว่า “ราชคหกะ” และต่อมาเศรษฐีทั้ง สอง ก็มีความเกี่ยวดองกันมากขึ้น โดยต่างฝ่าย ก็ได้น้องสาวของกันและกันมาเป็นภรรยา ดังนั้น เมื่ออนาถบิณฑิกะ นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์ จึงได้มาพักอาศัยที่บ้านของราชคฤหเศรษฐี ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นทั้งน้องเขย และพี่เมียอยู่เป็นประจำ

อนาถบิณฑิกเศรษฐีสำเร็จพระโสดาบัน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดำรงชีวิตอยู่ในกรุงสาวัตถี โดยมิได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการเกิดขึ้น แห่งพระพุทธศาสนาเลย จวบจนวันหนึ่ง ท่านได้นำสินค้ามาขายยังเมืองราชคฤห์ และได้เข้าพัก ในบ้านของราชคหกเศรษฐีตามปกติ แต่ในวันนั้น เป็นวันที่ราชคหกเศรษฐี ได้กราบทูล อาราธนาพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากมาย และฉันภัตตาหารที่เรือน ของตนในวันรุ่งขึ้น

ราชคหกเศรษฐี มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงาน แก่ข้าทาสบริวาร จึงไม่มีเวลามาปฏิสันถาร ต้อนรับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เหมือนเช่นเคย เพียงแต่ได้ทักทาย ปราศรัยเล็กน้อยเท่านั้น แล้วก็ สั่งงานต่อไป แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็เกิดความสงสัยขึ้นเช่นกัน จึงคิดอยู่ในใจว่า “ราชคหกเศรษฐี คงจะมีงานบูชาอัญ หรือไม่ก็คงจะกราบทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมายัง เรือนของตนในวันพรุ่งนี้”

เมื่อการสั่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ราชคหกเศรษฐี จึงได้มีเวลามาต้อนรับพูดคุยกับ อนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ได้ไต่ถามข้อข้องใจสงสัยนั้น ซึ่งได้รับคำ ตอบว่า ที่มัวยุ่งอยู่กับการสั่งงานนั้น ก็เพราะได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระ ภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหาร ที่เรือนของตนในวันพรุ่งนี้

อนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ฟังคำว่า “พระพุทธเจ้า” เท่านั้นเอง ก็รู้สึกแปลกประหลาด ใจ จึงย้อนถามถึงสามครั้ง เพื่อให้แน่ใจ เพราะคำว่า “พระพุทธเจ้า” นี้ เป็นการยากยิ่งนัก ที่จะ ได้ยินในโลกนี้ เมื่อราชคหกเศรษฐี กล่าวยืนยันว่า “ขณะนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระ สงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก” จึงเกิดปีติและศรัทธา เลื่อมใสอย่างแรงกล้า ปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ในทันที แต่ราชคหกเศรษฐียับยั้งไว้ว่า มิใช่เวลาแห่งการเข้าเฝ้า จึงรอจนรุ่งเช้า ก็รีบไปเข้าเฝ้า ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จไปยังบ้านราชคหกเศรษฐี ได้ฟังอนุปุพพิกถา และ อริยสัจสี่จากพระพุทธเจ้าแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล ในพระพุทธศาสนา ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดถวาย
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ช่ว ยอังคาสถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดา และพระภิกษุ สงฆ์ ครั้นเสร็จภัตตากิจแล้ว ก็ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา เพื่อเสด็จไปประกาศพระ ศาสนายังเมืองสาวัตถี พร้อมทั้งกราบทูลว่า จะสร้างพระอารามถวายเมืองสาวัตถีนั้น พระบรม ศาสดาทรงรับอาราธนาตามคำกราบทูล

อนาถบิณฑิกเศรษฐี รู้สึกปราบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง รีบเดินทางกลับสู่กรุงสาวัตถี โดยด่วน ในระหว่างทางจากกรุงราชคฤห์ ถึงกรุงสาวัตถี ระยะทาง ๕๔ โยชน์ ได้บริจาคทรัพย์ จำนวนมากให้สร้างวิหาร ที่ประทับเป็นที่พักทุก ๆ ระยะหนึ่งโยชน์ เมื่อถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ได้ ติดต่อขอซื้อที่ดิน จากเจ้าชายเชตราชกุมาร โดยได้ตกลงราคา ด้วยการนำเงินปูลาดให้เต็มพื้นที่ ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าเศรษฐีใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก ๒๗ โกฏิ เป็นค่าก่อ สร้างพระคันธกุฏี ที่ประทับของพระบรมศาสดา และเสนาสนะสงฆ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้มประตูพระอาราม ขณะนั้น เจ้าชายเชตราชกุมาร ได้แสดงความ ประสงค์ขอเป็นผู้จัดสร้างถวาย โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ ที่ซุ้มประตูพระอาราม ดัง นั้น พระอารามนี้จึงได้ชื่อว่า “เชตวนาราม

เศรษฐีทำบุญจนหมดตัว
เมื่อการก่อสร้างพระอารามเสร็จแล้ว ได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดา พร้อมด้วย พระภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าประทับ จัดพิธีฉลองพระอาราม อย่างมโหฬารนานถึง ๙ เดือน (บางแห่ง ว่า ๕ เดือน) ได้จัดถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีต แก่พระบรมศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อ พิธีฉลองพระอารามเสร็จสิ้นลงแล้ว ได้กราบอาราธนาพระภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป ไป ฉันภัตตาหารที่บ้านของตน ทุกวันตลอดกาล

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำบุญโดยทำนองนี้ ทั้งให้ทานแก่คนยากจน และการถวายทาน แด่พระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งทรัพย์สินเงินทอง ที่เก็บสะสมไว้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ ทรัพย์ที่ หาได้มาใหม่ ก็ไม่เท่ากับจ่ายออกไป ภัตตาหารที่จัดถวายพระภิกษุสงฆ์ ก็ลดลงทั้งคุณภาพ และ ปริมาณ จนที่สุด ข้าวที่หุงถวายพระ ก็จำเป็นต้องใช้ข้าวปลายเกวียน กับข้าวก็เหลือเพียงน้ำ ผักเสี้ยนดอง ตนเองก็พลอย อดอยากลำบากไปด้วย

ถึงกระนั้น เศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญ ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ได้ แต่กราบเรียนให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า ตนเองไม่สามารถจะจัดถวายอาหารอันประณีต มีรสเลิศเหมือนเมื่อก่อนได้ เพราะขาดปัจจัยที่จะจัดหา พระภิกษุสงฆ์ที่เป็นปุถุชน ก็พากันไปรับอาหารบิณฑบาตที่ตระกูลอื่น ที่ถวายอาหารมีรสเลิศกว่า

เศรษฐีขับไล่เทวดา
ขณะนั้น เทวดาตนหนึ่งผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่เลื่อมใสพุทธศาสนา เบื่อระอาที่พระภิกษุสงฆ์ เดินรอดซุ้มประตูเข้าออก ทุกวัน เพราะในขณะที่ภิกษุสงฆ์เดินรอดซุ้มประตูนั้น ตนไม่สามารถจะอยู่บนซุ้มประตูได้ เมื่อ เห็นเศรษฐีกลับกลายมีฐานะยากจนลง เพราะทำบุญแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงปรากฎ กายต่อหน้าท่านเศรษฐี กล่าวห้ามปรามให้เศรษฐีเลิกทำบุญเสียเถิด แล้วทรัพย์สินเงินทองก็จะ เพิ่มพูนขึ้นเหมือนเดิม

ท่านเศรษฐีจึงถามว่า “ท่านเป็นใคร ?”
“ข้าพเจ้าเป็นเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของท่าน”
“ดูก่อนเทวดาอันธพาล เราไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการฟังคำพูดของท่าน ขอท่านจง ออกไปจากซุ่มประตูเรือนของเรา อย่ามาให้ข้าพเจ้าเห็นอีกเป็นอันขาด”

เทวดาตกใจ ไม่สามารถจะอยู่ที่ซุ่มประตูเรือนของเศรษฐีได้อีกต่อไป กลายเป็นเทวดา ไร้ที่สิงสถิต ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เข้าไปหาเทวดาผู้มีศักดิ์สูงกว่าตน ให้ช่วยเหลือ แต่ไม่มีเทวดาองค์ใด จะสามารถช่วยได้ เพียงแต่บอกอุบายให้ว่า “ทรัพย์เก่าของเศรษฐีจำนวน ๘๐ โกฏิ ซึ่งใส่ภาชนะฝังไว้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง จมหายไปในสายน้ำ ท่านจงไปนำ ทรัพย์เหล่านั้น กลับคืนมามอบให้ท่านเศรษฐี แล้วท่านเศรษฐีก็จะหายโกรธ ยกโทษให้ และ อนุญาตให้อยู่อาศัยที่ซุ้มประตูบ้านดังเดิมได้”

เทวดาทำตามนั้น ได้นำทรัพย์เหล่านั้น มามอบให้เศรษฐีด้วยอำนาจฤทธิ์เทวดา เมื่อ เศรษฐียกโทษให้แล้วได้อยู่ ณ สถานที่เดิมของตนสืบไป

ต้นแบบการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
พุทธบริษัทผู้ใฝ่บุญนั้น ย่อมปรารภเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาเป็นเรื่องทำบุญได้เสมอ เช่น เรื่องของอนาถบิณฑิกเศรษฐี นี้ วันหนึ่งหลานของท่านเล่นตุ๊กตา ที่ทำจากแป้งแล้วหล่นลง แตก หลานร้องไห้ด้วยความเสียดายตุ๊กตา เพราะไม่มีตุ๊กตาจะเล่น ท่านเศรษฐีได้ปลอบโยน หลานว่า
“ไม่เป็นไร เราช่วยกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตากันเถิด” ปรากฏว่าหลานหยุด ร้องไห้ รุ่งเช้า ท่านจึงพาหลานช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระ แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตา

ข่าวการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตา ของท่านเศรษฐี แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนชาวพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเป็นเรื่องแปลก และเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรกระทำ ดังนั้นเมื่อ ญาติผู้เป็นที่รักของตนตายลง ก็พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เหมือนอย่างที่ท่านเศรษฐีกระทำ นั้น และถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

มอบภารกิจของตนให้ลูกหลาน
ตามปกติทุก ๆ วัน ภิกษุทั้งหมด ผู้อยู่ในกรุงสาวัตถีจะรับนิมนต์ เพื่อฉันภัตตาหารใน บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และในบ้านของนางวิสาขา ดังนั้น บุคคลอื่น ๆ ผู้ประสงค์จะ ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ก็ต้องมาขอโอกาสแก่ท่านทั้งสองนี้ เมื่อนิมนต์พระได้แล้ว ก็ต้องเชิญ ท่านทั้งสองนี้ไปเป็นประธาน ที่ปรึกษาด้วย ทั้งนี้ ก็เพราะท่านทั้งสอง ทราบดีว่า ควรประกอบ ควรปรุงอาหารอย่างไร ให้ต้องกับอัธยาศัย และวินัยของพระ ควรจัดสถานที่อย่างไร จึงจะเหมาะ สม นอกจากนี้ ก็เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านเรือน ที่จัดงานอีกด้วย

ดังนั้นท่านทั้งสอง จึงไม่ค่อยมีเวลาอยู่ปฏิบัติเลี้ยงดูพระภิกษุ ที่นิมนต์มาฉันที่บ้านของตน นางวิสาขาจึงได้มอบหมาย ภารกิจหน้าที่นี้แก่หลานสาว ส่วนอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มอบให้แก่ลูกสาวคนโตชื่อว่า “มหาสุภัททา

นางได้ทำหน้าที่นี้ อยู่ระยะหนึ่ง ได้ฟังธรรมจากพระคุณเจ้าแล้ว ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้แต่ง งานแล้วก็ติดตามไปอยู่ในสกุลของสามี จากนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ได้มอบหมายให้ลูกสาวคนที่สองชื่อว่า “จุลสุภัททา” นางก็ทำหน้าที่แทนบิดาด้วยดีโดยตลอด และก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ต่อจากนั้นไม่ นาน นางก็ได้แยกไปอยู่กับครอบครัว ของสกุลสามี อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงได้มอบหน้าที่ให้ ลุกสาวคนเล็กชื่อว่า “สุมนาเทวี” กระทำแทนสืบมา

ลูกสาวป่วยเรียกบิดาว่าน้องชาย
สุมนาเทวี ทำหน้าที่ด้วยความขยันเข้มแข็ง งานสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยทุกวัน ทั้ง ๆ ที่นางอายุยังน้อย จากการที่นางได้ทำบุญถวายภัตตาหาร พระภิกษุสงฆ์และได้ฟังธรรม เป็นประจำ นางก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี แต่ต่อมานางได้ล้มป่วยลงมีอาการหนัก ใคร่อยาก จะพบบิดา จึงให้คนไปเชิญบิดามา

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ทราบว่าลูกสาวป่วยหนัก ก็รีบมาเยี่ยมโดยเร็ว พอมา ถึงได้ถามลูกสาวว่า
“แม่สุมนา เจ้าเป็นอะไร ?”
“อะไรเล่า น้องชาย ?” ลูกสาวตอบ
“เจ้าเพ้อหรือ แม่สุมนา ?” บิดาถาม
“ไม่เพ้อหรอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ
“แม่สุมนา ถ้าอย่างนั้น เจ้ากลัวหรือ ?” บิดาถาม
“ไม่กลัวหรอก น้องชาย”
นางสุมนาเทวี พูดโต้ตอบกับบิดาได้เพียงเท่านั้น ก็ถึงแก่กรรม

พระโสดาบันร้องไห้ไปกราบทูลพระศาสดา
ท่านเศรษฐี แม้จะเป็นพระโสดาบัน ก็ไม่อาจจะกลั่นความเศร้าโศกเสียใจ เพราะการ จากไปของธิดาได้ เมื่อเสร็จงานศพ และได้ร้องไห้น้ำตานองหน้าไปเข้าเฝ้า พระบรมศาสดา

พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่า
“อนาถบิณฑิกะ ก็ความตายเป็นสิ่งเที่ยงแท้ ของสรรพสัตว์มิใช่หรือ เหตุไฉนท่านจึง ร้องไห้อย่างนี้ ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นข้าพระองค์ทราบดี แต่นางสุมนาเทวีธิดาของข้าพระ องค์ เมื่อใกล้เวลาจวนจะตาย นางไม่สามารถคุมสติได้เลย นางบ่นเพ้อจนกระทั่งตาย ข้าพระ องค์โทมนัสร้องไห้ เพราะเหตุนี้ พระเจ้าข้า”

พร้อมทั้งได้กราบทูลถ้อยคำ ที่นางสุมนาเทวีเรียนตนเองว่าน้องชาย ถวายให้พระพุทธ องค์ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคได้สดับแล้วตรัสว่า
“ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านมิได้เพ้อหลงสติอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ที่นางเรียก ท่านว่าน้องชายนั้น ก็เพราะท่านเป็นน้องของนางจริง ๆ นางเป็นใหญ่กว่าท่าน โดยมรรคและ ผล เพราะท่านเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ธิดาของท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นอริยบุคคลสูง กว่าท่าน และบัดนี้ นางได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นี่แหละคฤหบดี ธรรมดา บุคคลไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าอยู่ด้วยความไม่ประมาท ประพฤติดีปฏิบัติ ชอบ ก็ย่อมเสวยสุขเพลินทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า”

อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้ว หายจากความเศร้าโศกเสียใจ กลับได้รับ ความปีติเอิบอิ่มใจขึ้นมาแทน เมื่อควรแก่เวลาแล้ว ก็กราบทูลลากลับสู่เคหสถานของตน เพราะความที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหว ฝักใฝ่ในการทำ บุญให้ทาน ไม่มีผู้ใดจะเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้ เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ในฝ่ายผู้เป็นทายก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก