หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระสีวลีเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระสีวลีเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระสีวลีเถระ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ไปวิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีลาภ คิดว่า แม้เราก็ควรเป็นอย่างนั้นบ้าง ในอนาคต

จึงนิมนต์พระทศพล ถวายมหาทาน ๗ วัน กระทำความปรารถนาว่า ด้วยการกระทำกุศลกรรมนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น แต่ข้าพระองค์ พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีลาภ เหมือนอย่างภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ ในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งในอนาคตกาล

พระศาสดาทรงเห็นว่า ไม่มีอันตรายสำหรับความปรารถนานั้น จึงพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของท่านนี้ จักสำเร็จ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตรมะ ในอนาคต แล้วเสด็จกลับ ท่านทำกุศลตลอดชีพ แล้วเวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ครั้งพระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวในเทวโลกและมนุษยโลก มาถือกำเนิดในบ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลกรุงพันธุมดี

แข่งขันถวายทาน
สมัยนั้น ชาวเมืองพันธุมดี แข่งขันกับพระราชา ถวายทานแด่พระทศพล วันหนึ่ง คนเหล่านั้น ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวถวายทาน คิดว่า ทานที่เราให้ครั้งนี้ ไม่มีอะไรบ้าง เห็นน้ำผึ้งและเนยแข็งขาดไป จึงส่งบุรุษผู้หนึ่ง ไปดักในทางจากชนบทเข้าไปในเมือง คอยทีอยู่ หากมีผู้ใดนำของสองสิ่งนี้มา ก็ให้จัดการซื้อ

สมัยนั้น ท่านนำเนยแข็งและน้ำผึ้ง ผ่านมาทางนั้นพอดี บุรุษนั้น จึงเจรจาขอซื้อ แต่ท่านไม่ยอมขาย แม้ว่าจะให้ราคาถึงหนึ่งพันกหาปณะ พอท่านทราบว่า เนยแข็งและน้ำผึ้ง จะนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ก็มีความประสงค์จะมีส่วน ในการบุญอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ด้วย

พอได้รับอนุญาต ท่านก็ได้นำเงินไปซื้อของเผ็ดร้อน ๕ อย่างมาบดจนละเอียด กรองคั้นเอาน้ำส้ม จากนมส้มแล้วคั้นรวงผึ้งลงในนั้น ปรุงกับผงเครื่องเย็ดร้อน ๕ อย่าง แล้วใส่ไว้ในใบบัวใบหนึ่ง จัดห่อ แล้วถือมานั่ง ณ ที่ไม่ไกลพระศาสดา คอยจังหวะที่จะนำเข้าไปถวายพระศาสดา

เมื่อโอกาสนั้นมาถึงตน จึงไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นทุคคตบรรณาการ ของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดกรุณารับของสิ่งนี้ ของข้าพระองค์เถิด พระศาสดาทรงอนุเคราะห์ท่าน ทรงรับของถวายนั้นด้วยบาตรหิน ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ทรงอธิษฐานให้ของที่นำมาถวายนั้น เพียงพอแก่ภิกษุจำนวน ๖๘,๐๐๐ องค์

ท่านถวายบังคมพระศาสดา เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าพระองค์ พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันนี้ชาวเมืองพันธุมดี นำสักการะมาถวายพระองค์ แม้ข้าพระองค์ พึงเป็นผู้ถึงความยอดทางลาภ และเป็นยอดทางยศ ในภพที่เกิดแล้วๆ ด้วยผลแห่งกรรมนี้

พระศาสดาตรัสว่า ความปรารถนาจงสำเร็จอย่างนั้นเถิด กุลบุตร แล้วทรงกระทำอนุโมทนาภัตร แก่กุลบุตรนั้นและแก่ชาวเมือง แล้วเสด็จกลับไป ท่านกระทำกุศลจนตลอดชีพแล้ว เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่าน บังเกิดเป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จำเดิมแต่พระราชโอรส มาถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ทำพระมารดาให้สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะเป็นอันมาก

แต่อยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน (เพราะบุรพกรรมในอดีตชาติ เคยปฏิบัติตามคำแนะนำของมารดา โดยให้กองทัพปิดล้อมเมืองหนึ่ง ทำให้ประชาชนเมืองนั้นเดือดร้อนอดอยาก) จึงประสูติ เวลาประสูติก็ประสูติง่ายที่สุด เปรียบประดุจน้ำไหลออกจากหม้อ ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ

กล่าวคือ เมื่อพระนางมีครรภ์แก่ ครบกำหนดประสูติแล้ว ได้เสวยทุกขเวทนาลำบากมาก พระนางจึงให้พระสวามีบังคมทูลพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสพระราชทานให้พรว่า พระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชบุตรผู้หาโรคมิได้เถิด

พระนางสุปปวาสาก็ได้ประสูติพระราชบุตร พร้อมกับขณะที่พระศาสดาตรัสพระราชทานพร เมื่อประสูติแล้วพระญาติได้ขนานพระนามว่า “สีวลีกุมาร” เพราะระงับจิตที่เร่าร้อน ของพระประยูรญาติทั้งหมด

ส่วนพระนางสุปปาวาสา นึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว มีความปรารถนาจะถวายมหาทานสัก ๗ วัน จึงให้พระสวามีไปอาราธนานิมนต์ พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อรับภัตตาหารในบ้าน ๗ วัน พระราชสวามี ก็ไปตามความประสงค์ของนาง แล้วได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน (สีวลีกุมารนั้น นับตั้งแต่วันที่ประสูติ ได้ถือธมกรกกรองน้ำถวายพระตลอด ๗ วัน)

เมื่อสีวลีกุมารเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ออกผนวชในสำนักของท่านพระสารีบุตร ได้บรรลุผลสมตามความปรารถนา คือ ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคลในพระพุทธศาสนา

บรรลูพระอรหัตผลขณะปลงผมเสร็จ
นัยว่า ท่านได้บรรลุมรรคผลตั้งแต่เมื่อเวลาปลงผม คือ เมื่อเวลามีดโกนจรดลงศีรษะครั้งที่หนึ่ง ได้บรรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่สองได้บรรลุสกทาคามี ครั้งที่สามได้บรรลุอนาคามิผล ปลงผมเสร็จ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก
ตั้งต้นแต่นั้นมา ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัจจัยสี่ (เพราะอานิสงส์ที่เคยถวายน้ำผึ้งและเนยแข็ง แด่พระวิปัสสีพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย) ทั้งภิกษุทั้งหลาย ก็พลอยไม่ขัดข้องด้วยปัจจัยลาภ เพราะอาศัยท่าน

เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เว้นพระตถาคต เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างผู้มีลาภมาก (ลาภีนํ ยทิทํ สีวลี)

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระสีวลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก