หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระทัพพมัลลบุตรเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระทัพพมัลลบุตรเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพระทัพพมัลลบุตร ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐี ได้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ เสื่อมใสในพระศาสนา กำลังฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาอยู่ ได้มองเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้ซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุ ผู้จัดแจงเสนาสนะ แล้วมีจิตเลื่อมใส

ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน พอล่วงได้ ๗ วัน ได้หมอบลงแทบพระบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบถึงความสำเร็จของเขา จึงได้ตรัสพยากรณ์แล้ว

ท่านได้บำเพ็ญกุศลกรรม จนตลอดชีวิตแล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้เสวยทิพยสมบัติ ในหมู่เทวดาชั้นดุสิต เป็นต้น แล้วจุติจากอัตภาพนั้น ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าวิปัสสี ท่านได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง เพราะได้คบหากับอสัตบุรุษ แม้รู้ว่าภิกษุสาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ก็ยังได้กล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง ท่านได้ถวายสลากภัตรน้ำนม แด่พระสาวกทั้งหลาย ของพระผู้มีพระภาคนั้น ได้ทำบุญจนตลอดอายุขัยแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยสมบัติในโลกทั้งสองแล้ว

ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุล ในกาลที่สุด บวชแล้วในพระศาสนา เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว เกิดความวุ่นวายทั่วสกลโลก ภิกษุ ๗ รูป เป็นบรรพชิต ขึ้นไปยังภูเขาลูกหนึ่ง ในท่ามกลางป่า ในปัจจันตชนบทแล้ว ผลักผะองให้ตกลงมา ด้วยคิดว่า ความหวังในชีวิต จงตกลงไป ความสิ้นอาลัย จงจมลงไปเสียเถิด หัวหน้าพระเถระ ผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้น ภายใน ๗ วันก็ได้เป็นพระอรหันต์ พระเถระ รองลงมาจากพระเถระนั้น ได้เป็นพระอนาคามี พระเถระอีก ๕ รูปนอกนี้ เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ไปบังเกิดในเทวโลก ได้เสวยทิพยสมบัติในเทวโลกนั้นตลอดพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ภิกษุ ๔ รูปเหล่านี้ คือ ปุกกุสาติ สภิยะ พาหิยะ กุมารกัสสปะ ได้มาบังเกิดในโลกมนุษย์นี้ และท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระ มาบังเกิดในราชสกุลมัลละพระองค์หนึ่ง ในอนุปิยนคร มัลลรัฐ

พระมารดาทิวงคตในขณะใกล้คลอด
ในเวลาใกล้คลอด พระมารดาของท่าน ได้ทิวงคต คนทั้งหลายจึงยกร่างของพระนาง ขึ้นวางบนจิตกาธาน แล้วทำการฌาปนกิจ พอไฟสงบลงแล้ว พื้นท้องของนางนั้น ก็แยกออกเป็น ๒ ส่วน มีทารกกระเด็นขึ้นไปตกที่เสาไม้ต้นหนึ่ง ด้วยกำลังบุญของตน คนทั้งหลายอุ้มทารกนั้น ไปให้แก่ย่าท่านเลี้ยง ท่านย่านั้น เมื่อจะตั้งชื่อทารกนั้น จึงตั้งชื่อของท่านว่า ทัพพะ เพราะท่านกระเด็นไปที่เสาไม้จึงรอดชีวิต และท่านมีสร้อยชื่อ“มัลลบุตร” เพราะเกิดในราชสกุลมัลละ ท่านจึงมีชื่อเต็มว่า ทัพพมัลลบุตร

ทัพพมัลลบุตรราชกุมารนั้น นับแต่วันประสูติมามีพระชนม์ได้ ๗ ปี เห็นพระศาสดา พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จจาริกไปในมัลลรัฐ ได้เข้าไปหาเสด็จย่า ทูลอ้อนวอน ขออนุญาตบรรพชาในพระพุทธศาสนา เสด็จย่าของท่านจึงนำท่านไปเฝ้าพระศาสดา แล้วกราบทูลขอ บรรพชาเป็นสามเณรจากพระศาสดา พระศาสดาทรงประทานอนุญาตให้พระเถระรูปหนึ่ง ทำการบรรพชาให้ทารกนั้น พระเถระนั้น รับพระพุทธดำรัสแล้ว ก็ให้ทัพพกุมารบรรพชา บอกตจปัญจกกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่ห้า กล่าวคือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ)

บรรลุอรหัตตผลขณะปลงผมเสร็จ
ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลขณะที่จรดมีดโกนลงบนศีรษะครั้งแรก เมื่อจรดมีดโกนครั้งที่ ๒ ท่านบรรลุสกทาคามิผล เมื่อจรดมีดโกนครั้งที่ ๓ ท่านก็บรรลุอนาคามิผล พอปลงผมเสร็จท่านก็ได้บรรลุอรหัตตผล

ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจของสงฆ์เป็นอย่างดี ในครั้งหนึ่งได้มีความดำริว่า เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้วควรจะรับภารกิจของสงฆ์ จึงได้กราบทูลความดำรินั้น แด่พระบรมศาสดา เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วได้ตรัสสาธุการว่า ดีละ ๆ ทัพพมัลลบุตร แล้วตรัสให้สงฆ์สมมติท่าน เป็นภัตตุทเทสก์ (ผู้แจกภัต) และเสนาสนคาหาปกะ(ผู้ปูลาดเสนาสนะ)

ได้อุปสมบทขณะมีอายุ ๗ พรรษา
ครั้งนั้นพระศาสดาทรงดำริว่าพระทัพพนี้ยังเด็กอยู่ แต่ดำรงตำแหน่งใหญ่ จึงทรงประทานให้ท่านอุปสมบทแล้ว ในเวลาที่ท่านมีพรรษา ๗ เท่านั้น

เอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ
หลังจากที่ท่านได้ อุปสมบทแล้ว ท่านได้ตั้งใจทำกิจในหน้าที่ของท่านให้สำเร็จเรียบร้อยดี และท่านเป็นผู้ฉลาดในการนี้ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเจ้าหน้าที่จัดเสนาสนะ (เสนาสนปญฺญาปกานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระทัพพมัลลบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก