หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระพากุลเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระพากุลเถระ
 
บุพกรรมในอดีต
ท่านพากุลเถระ (หรือพักกุลเถระ) บังเกิดในสกุลพราหมณ์ ก่อนแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี จะอุบัติ ปลายอสงไขยแสนกัป นับแต่กัปนี้ เจริญวัย ก็เรียนพระเวท มองไม่เห็นสาระ ในคัมภีร์ไตรเพท จึงบวชเป็นฤาษี ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ทำเวลาล่วงไป ด้วยการเล่นฌาน

เมื่อพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว มีหมู่พระอริยะแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริกไป ดาบสฟังว่าพระรัตนะสามเกิดขึ้นแล้ว จึงไปสำนักพระศาสดา ฟังธรรม จบเทศนา ก็ตั้งอยู่ในสรณะ แต่ไม่สละเพศเดิม ออกบวชได้ ท่านไปเฝ้าพระศาสดา และฟังธรรมเป็นครั้งคราว

ต่อมาคราวหนึ่ง พระตถาคต เกิดโรคลมในพระอุทร ดาบสเมื่อเฝ้าพระศาสดา ทราบว่าประชวร จึงถามพระสงฆ์ว่า ท่านเจ้าข้า พระศาสดาประชวร เป็นโรคอะไร เมื่อทราบว่า เป็นโรคลมในพระอุทร จึงคิดว่า นี้เป็นเวลาทำบุญของเรา จึงไปยังเชิงเขา รวบรวมยาชนิดต่างๆ แล้วถวายพระเถระผู้อุปัฏฐาก กล่าวว่า โปรดน้อมถวายยานี้ แด่พระศาสดา และโรคลมในพระอุทรก็สงบ พร้อมกับการใช้ยา

ดาบสนั้น ไปเฝ้าในเวลาที่พระศาสดา ทรงหายจากโรคแล้ว ทูลว่า ความผาสุก เกิดแก่พระตถาคต เพราะยาของข้าพระองค์นี้ อันใด ด้วยผลแห่งการถวายยา ของข้าพระองค์นั้น ขอความเจ็บไข้ทางร่างกาย แม้แค่เพียงถอนผม ก็จงอย่ามี ในภพที่ข้าพระองค์เกิดแล้วเกิดเล่า ท่านจุติจากภพนั้น บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกสิ้นอสงไขยหนึ่ง

ครั้งพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ ถือปฏิสนธิในครอบครัว ณ กรุงหงสวดี เห็นพระศาสดา ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้มีอาพาธน้อย กระทำกุศลกรรม ยิ่งยวดขึ้นไป ก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น ท่านกระทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก บังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ ณ กรุงพันธุมวดี ก่อนพระทศพลพระนามว่าวิปัสสีบังเกิด บวชเป็นฤาษี เป็นผู้ได้ฌาน อาศัยอยู่เชิงเขา

พระวิปัสสีพุทธเจ้า บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ มีภิกษุหกล้านแปดแสน เป็นบริวาร ทรงอาศัยกรุงพันธุมวดี ทรงทำการสงเคราะห์ พระมหาราชเจ้าผู้พุทธบิดา แล้วประทับนั่ง ณ มิคทายสัน อันเกษม เมื่อดาบสนี้ ทราบว่าพระทศพลบังเกิดในโลก จึงมาฟังธรรมกถาของพระศาสดา ตั้งอยู่ในสรณะ ไม่อาจละบรรพชาของตน แต่ก็มาอุปัฏฐากพระศาสดาเป็นครั้งคราว

คราวหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เว้นพระศาสดาและพระอัครสาวก เกิดโรคที่ศีรษะ เพราะถูกลมของต้นไม้มีพิษ ที่ออกดอกสะพรั่งในป่าหิมพานต์ ดาบสมาเฝ้าพระศาสดา พบภิกษุนั่งคลุมศีรษะ จึงถามว่า ท่านเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์เป็นอะไร ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ผู้มีอายุ เหล่าภิกษุ เป็นโรคดอกไม้พิษ ดาบสคิดว่า นี้เป็นเวลาที่จะทำการขวนขวายทางกายแก่ภิกษุสงฆ์ ให้บุญบังเกิดแก่เรา

จึงเก็บยาชนิดต่างๆ ด้วยสติปัญญาของตน แล้วเอามาประกอบเป็นยาถวาย โรคของภิกษุทุกรูป ก็สงบไปทันที ดาบสนั้น ดำรงอยู่ชั่วอายุ ก็บังเกิดในพรหมโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก เก้าสิบเอ็ดกัป

ครั้งพระพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในกรุงพาราณสี ครองเรือนอยู่คิดว่า เรือนของเราทรุดโทรม จำจักต้องไปชายแดน นำไม้และอุปกรณ์ต่างๆ มาสร้างเรือน จึงไปกับพวกช่างไม้ พบวิหารใหญ่คร่ำคร่า ในระหว่างทาง ก็คิดว่า การสร้างเรือนของเรา ขอพักไว้ก่อน การสร้างเรือนนั้น จักไม่ไปกับเราในเวลาตายได้ แต่การสร้างสาธารณกุศล ในพระศาสดา จะไปกับเราในเวลาสิ้นชีวิตได้

เขาให้พวกช่างไม้เหล่านั้น นำไม้และอุปกรณ์ต่างๆ มาแล้ว ให้สร้างโรงอุโบสถในวิหารนั้น ให้สร้างโรงฉัน โรงไฟ(ที่จงกรม) เรือนไฟ กัปปิยกุฏิ(โรงเก็บของสงฆ์) ที่พักกลางคืน และที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ(ส้วม) จัดตั้งยาใช้ และฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ทุกอย่าง เขาทำกุศลจนตลอดชีวิต เวียนว่ายในเทวโลกและมนุษยโลก สิ้นพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระพากุลเถระ เป็นบุตรมหาเศรษฐี ในพระนครโกสัมพี ท่านมีนามว่า “พากุละ” ด้วยเหตุที่ท่าน ได้รับการเลี้ยงดูอยู่ ในตระกูลเศรษฐีทั้งสอง หรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้อันตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองชุบเลี้ยง

ถูกปลาตัวใหญ่กลืนกิน
ในตำนานกล่าวว่า เมื่อท่านเกิดได้ ๕ วัน มารดาบิดา พร้อมด้วยประยูรญาติ จัดแจงทำการมงคล โกนผมไฟ และขนานนามท่าน พี่เลี้ยงนางนม ได้พาท่านไปอาบน้ำชำระเกล้า ที่แม่น้ำคงคา

ในขณะนั้นมีปลาใหญ่ตัวหนึ่ง แหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ มาเห็นทารกนั้นเข้า สำคัญว่าเป็นอาหาร จึงได้ฮุบทารกนั้น กลืนเข้าไปในท้อง

แต่ทารกนั้น เป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เมื่ออยู่ในท้องปลา ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี นอนสบาย เหมือนคนนอนบนที่นอนตามธรรมดา เพราะบุญญาธิการของทารก บันดาลให้ปลานั้น บังเกิดความเร่าร้อน กระวนกระวาย เที่ยวกระเสือกกระสน แหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ เผอิญไปติดข่ายของชาวประมงชาวพระนครพาราณสี

เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่าย ปลานั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงเอาปลานั้นไปเที่ยวเร่ขาย ตีราคาถึงพันกหาปณะ

ในพระนครนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์มาก แต่เป็นคนไร้บุตรและธิดา พร้อมด้วยภรรยา ได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ และได้แล่ปลานั้นออก จึงได้เห็นทารก นอนอยู่ในท้องปลา ครั้นได้แลเห็นทารกนั้นแล้ว ก็เกิดความรักใคร่ราวกะบุตร ได้เปล่งอุทานวาจาขึ้น ด้วยเสียงอันดังว่า “เราได้ลูกในท้องปลา”

สองตระกูลเศรษฐ๊อ้างสิทธิ์เลี้ยงดู
เศรษฐีและภรรยา ได้เลี้ยงดูทารกนั้นไว้เป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ครั้นกาลต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดา ทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปสู่สำนักของพาราณสีเศรษฐี พอแลเห็นทารกนั้น จำได้ว่าเป็นบุตรของตน จึงขอทารกนั้นคืน แสดงเหตุผลและหลักฐาน ให้พาราณสีเศรษฐีนั้นทราบ

พาราณสีเศรษฐีไม่ยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นว่าจะไม่เป็นการตกลงกัน จึงได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์ได้ทรงวินิจฉัย ให้ตระกูลทั้งสองช่วยกันอภิบาลรักษาชุบเลี้ยงทารกนั้น

เศรษฐีทั้งสองนั้น ได้ผลัดเปลี่ยนกัน รับทารกไปบำรุงเลี้ยงดู ในตระกูลของตน ๆ มีกำหนดเวลาคนละ ๔ เดือน อาศัยเหตุตามเรื่องราว ที่กล่าวมานี้ ทารกนั้นจึงมีนามปรากฏว่า “พากุละ”

จำเดิมแต่กาลนั้นมา พากุลกุมาร ได้รับการอภิบาลเลี้ยงดู จากกระกูลเศรษฐีทั้งสองเป็นอย่างดี จนเจริญวัยขึ้น ท่านครองฆราวาสอยู่ ๘๐ ปีเต็ม

ขอบวช และได้บรรลุพระอรหัตตผล
ครั้นเมื่อพระศาสดา เสด็จเที่ยวไปประกาศพระศาสนา ในพระนครพาราณสี พากุลกุมาร พร้อมด้วยบริวารพากันเข้าไปเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอน ในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์พยายาม ทำความเพียร เจริญสมณธรรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

เอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพยาธิ
ตั้งแต่วันนั้นมา ท่านอุตส่าห์ประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า ตั้งแต่บวชมาในพระพุทธศาสนา ประมาณได้ ๖๐ ปี ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคภัย เบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษาร่างกายด้วยเภสัชเลย โดยที่สุด ผลสมอแม้ชิ้นหนึ่ง ท่านก็ไม่เคยฉัน ตามตำนานท่านกล่าวว่า การที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น เป็นผลของบุญกุศล ที่ท่านสร้างเวจกุฎี และให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน

เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างผู้มีโรคาพาธน้อย (อปฺปาพาธานํ)

กิจสำคัญ ที่ท่านได้ทำไว้ในพุทธศาสนา มีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชก ผู้เป็นสหายเก่าเกิดศรัทธาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา เข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหันต์ ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา

ดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
พระพากุลเถระ ดำรงชนมายุสังขารอยู่ โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านเข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพาน ณ ท่ามกลางระหว่างภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุ ก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่าน ให้หมดไป ณ ที่นั้น.

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระพากุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพยาธิ


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก