หน้าหลัก พระสงฆ์ พระอสีติมหาสาวก พระพาหิยทารุจิริยเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
ประวัติ พระพาหิยทารุจิริยเถระ

บุพกรรมในอดีต
ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ ครั้งพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ เกิดในเรือนสกุลหนึ่ง ในกรุงหงสวดี กำลังฟังธรรมของพระทศพล เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว

จึงกระทำกุศล ให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น กระทำกุศลกรรมจนตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวโลก และมนุษยโลก เวลาศาสนาของพระกัสสปทศพล เสื่อมลง ก็กระทำสมณธรรม ร่วมกับเหล่าภิกษุอื่นๆ บนภูเขา เป็นผู้มีศีลบริบูรณ์ สิ้นชีพแล้ว ก็บังเกิดในเทวโลก ท่านอยู่ในเทวโลก สิ้นพุทธันดรหนึ่ง

สมัยพุทธกาล
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านพระพาหิยทารุจิริยเถระ มาบังเกิดเป็นบุตรของกุฎุมพี ในแคว้นพาหิยรัฐ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ประกอบอาชีพในการค้าขาย

เรืออับปางกลางมหาสมุทร
ครั้งหนึ่ง ได้ไปทำการค้าขาย ทางจังหวัดสุวรรณภูมิโดยทางเรือ พร้อมด้วยพวกมนุษย์เป็นอันมาก เมื่อเรือกำลังแล่นไปในท่ามกลางมหาสมุทร ยังไม่ถึงที่จุดหมายปลายทาง ก็ได้อับปางลงในท่ามกลางมหาสมุทร พวกคนทั้งหมด ได้ตกเป็นภักษาของปลาและเต่า ยังเหลืออยู่แต่พาหิยทารุจิริยะคนเดียว เกาะแผ่นกระดานได้แผ่นหนึ่ง พยายามแหวกว่าย ไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อสุปปารกะ

สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์
ผ้านุ่งผ้าห่ม ไม่เหลือติดตัวเลย มองไม่เห็นอะไร ที่จะทำเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม จึงเอาเปลือกไม้บ้าง ใบไม้บ้าง มาเย็บติดกันเข้า ทำเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม ถือกระเบื้อง เที่ยวไปขออาหารเลี้ยงชีพ

พวกมนุษย์ได้เห็นท่านแล้ว พากันสำคัญว่า ผู้นี้คงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง อย่างแน่นอน จึงพากันให้ทานข้าวยาคู และข้าวสวยเป็นต้น และนำผ้านุ่ง ผ้าห่มไปให้ เพื่อท่านจะใช้นุ่งห่ม ท่านมาพิจารณาว่า ถ้าเรานุ่งห่มผ้าเสียแล้ว ลาภสักการะของเรา จักเสื่อม จึงปฏิเสธพวกมนุษย์ ไม่ให้นำผ้านุ่งผ้าห่มมาให้อีกต่อไป แล้วนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกไม้ตามเดิม และได้มีความสำคัญว่า ตนเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

ครั้นพรหม ที่เคยบำเพ็ญสมณธรรม ร่วมกันมาแต่ชาติก่อน ซึ่งไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ได้เล็งเห็นพฤติกรรม ของพาหิยทารุจิริยะเช่นนั้น จึงได้ลงมาว่ากล่าว ตักเตือนสติว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านต้องไม่ทำเช่นนั้น จึงรู้สึกสำนึกตัวได้ว่า ตนไม่ใช่พระอรหันต์ การทำเช่นนี้ เป็นการหลอกลวงโลก ไม่เป็นการสมควรเลย

บรรลุพระอรหันต์ขณะเป็นคฤหัสถ์
เมื่อรู้สึกตัวเช่นนั้นแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ในพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ให้รู้จักควบคุมอินทรีย์ และสำเหนียกในไตรสิกขา กล่าวคือ ให้ระมัดระวังสำรวมอินทรีย์ เมื่อเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่น ก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรส ก็สักแต่ว่าลิ้มรส และสัมผัส ก็สักแต่ว่าสัมผัส อย่ายินดียินร้าย ในสิ่งเหล่านั้น และหมั่นสำเหนียก ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ท่านได้ส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาขณะอยู่ในเพศคฤหัสถ์ เมื่อจบเทศนา ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในพระพุทธศาสนากับพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสให้ไปแสวงหาบาตรและจีวรเสียก่อน เพราะไม่มีบาตรและจีวร ท่านเที่ยวแสวงหาบาตรและจีวรอยู่

ปรินิพพานก่อนได้อุปสมบท
ในเวลานั้นเผอิญมีนางยักขินีตนหนึ่ง จำแลงเพศเป็นแม่โคนม วิ่งมาโดยเร็วขวิดท่านปรินิพพาน ไม่ทันได้อุปสมบท

พระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต พร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นสรีระของท่าน พระองค์จึงรับสั่งให้ภิกษุ จัดแจงทำฌาปนกิจแล้ว ก่อพระสถูปบรรจุอัฐิไว้ ณ ทางใหญ่ ๔ แพ่ง

พระภิกษุทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า พระตถาคต รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย ทำฌาปนกิจร่างของพาหิยะ เก็บธาตุมาแล้ว โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เช่นนี้ พาหิยะกระทำให้แจ้งมรรคอะไรหนอ เขาเป็นสามเณรหรือหนอ พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะเป็นบัณฑิต และพาหิยะนั้นปรินิพพานแล้ว แต่พระภิกษุทั้งหลาย ก็ยังไม่วายสงสัยต่อไปว่า พระศาสดา มิได้แสดงธรรมธรรมมากเลย แล้วพาหิยะบรรลุพระอรหัตได้อย่างไร

พระศาสดาตรัสว่า ธรรมน้อยหรือมาก ไม่ใช่เหตุ ธรรมนั้น ก็เหมือนยาแก้คนที่ดื่มยาพิษ แล้วตรัสคาถาในพระธรรมบทว่า “ถ้าคาถา ถึงพันคาถา ที่ประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ ก็ประเสริฐสู้คาถาบทเดียว ที่ฟังแล้วสงบระงับ ไม่ได้”

เอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา
ต่อมภายหลัง พระบรมศาสดาประทับนั่งท่ามกลางสงฆ์ ทรงสถาปนาท่านพาหิยเถระไว้ ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุสาวก ผู้ตรัสรู้เร็ว (ขิปฺปาภิญญานํ).

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
พระพาหิยทารุจิริยเถระ เอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา


ย้อนกลับ เนื้อหา : จาก อสีติมหาสาวก : พลเรือตรี รองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร
(http://gold58-disciplesofthebuddha.blogspot.com)

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก