หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระมหาโกฏฐิตเถระ
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๓๙. พระมหาโกฏฐิตเถระ เอตทัคคะในทางผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔

พระมหาโกฏฐิตะ เป็นบุตรพราหมณ์ชื่ออัสสลายนะ กับพราหมณีชื่อจันทวดี ในเมือง สาวัตถี เดิมชื่อว่า “โกฎฐตะ” ตระกูลของท่านจัดว่าอยู่ในระดับมหาเศรษฐี ท่านจึงได้รับการ เลี้ยงดูอย่างดี แต่บิดาของท่าน มีทิฏฐิแรงกล้า ยึดมั่นในลัทธิศาสนาพราหมณ์อย่างมั่นคง เมื่อท่าน เจริญวัยได้ศึกษาศิลปวิทยา ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์จบไตรเพท

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เที่ยวจาริกเผยแผ่หลักธรรมคำสอน ไปตามคามนิคมต่างๆ ทั้งในเมืองและชนบท ได้เสด็จถึงหมู่บ้าน ที่อัสสลายนพราหมณ์ตั้งนิวาสสถานอยู่ ได้ทรมาน อัสสลายนพราหมณ์ จนละทิฏฐิมานะ และแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ปวารณาตนเป็นอุบาสก ขอ ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

ทิ้งพราหมณ์ถือพุทธ
โกฏฐิตมาณพ เห็นบิดาหันมายอมรับนับถือพระรัตนตรัย ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสขึ้นบ้าง ต่อมา ได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็ยิ่งเกิดศรัทธามากขึ้น ถึงกับมีจิตน้อมไปในการออกบวช เพื่อปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย จึงกราบทูลขอบวชต่อพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้ พระสารีบุตรเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้พระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นพระอาจารย์

ในขณะที่ท่านกำลังโกนผมอยู่นั้น ท่านได้พิจารณาในกรรมฐานไปเรื่อย ๆ พอผลัดเปลี่ยนผ้าสาฎกของคฤหัสถ์ ออก แล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในขณะนั้น พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ และวิโมกข์ ๓

พระมหาโกฏฐิตะ นั้น แม้ท่านจะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ท่านก็ยังมีปกติฝักใฝ่ใน การศึกษา ไม่ว่าท่านจะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา หรือเข้าไปหาพระเถระรูปอื่น ๆ ท่านก็มักจะถาม ปัญหาในปฏิสัมภิทาอยู่เสมอ ๆ จนมีความเชี่ยวชาญ แตกฉานในปฏิสัมภิทา เป็นพิเศษ มีเรื่อง ปรากฏในมหาเวทัลลสูตรมัชฌิมนิกายว่า

เป็นผู้แตกฉานเพราะชอบถามปัญหา
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ พระมหาโกฏฐิตเถระ ได้ขอโอกาสกราบเรียนถาม ข้อข้องใจกับพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระ อุปัชฌาย์ว่า
“ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ คนเช่นไร ที่เรียกว่าคนทุปัญญา ขอรับ ?”
“ดูก่อนมหาโกฏฐิติ คนทุปัญญา ก็คือ คนไม่มีปัญญา”
“เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า คนไม่มีปัญญา ขอรับ ?”
“คนไม่มีปัญญา ก็คือคนไม่รู้ความจริงว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้ทำให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้เป็น ความดับทุกข์ และสิ่งนี้เป็นหนทางให้ถึงความดับทุกข์ ส่วนคนอีกพวกหนึ่งที่รู้ความจริงเหล่านี้ ท่านเรียกว่า คนมีปัญญา”

พระมหาโกฏฐิตเถระ ได้กราบเรียนถามต่อไปว่า:-
“ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ ที่เรียกว่า วิญญาณ นั้น หมายความว่าอย่างไร ขอรับ ?”
“ดูก่อนมหาโกฏฐิติ ที่เรียกว่า วิญญาณ นั้น ก็เพราะรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์ บ้าง”
“ท่านขอรับ ปัญญากับวิญญาณนี้ รวมกันหรือแยกกัน ขอรับ ?”
“ดูก่อนมหาโกฏฐิติ ปัญญากับวิญญาณนี้ อยู่รวมกัน ไม่อาจแยกกันได้กล่าวคือ บุคคล รู้ในสิ่งใดก็รู้สึกในสิ่งนั้น บุคคลรู้สึกในสิ่งใดก็รู้สิ่งนั้นเป็นต้น”

พระเถระทั้งสองนั้น ได้สนทนาธรรมในข้อสงสัยต่าง ๆ กันต่อไป พอสมควรแก่กาล เวลาแล้ว พระมหาโกฏฐิตเถระ ได้กล่าวแสดงความชื่นชม ยินดีในปรีชาความรู้ของพระ อุปัชฌาย์ (พระสารีบุตรเถระ) แล้วจึงกราบลากลับสู่ที่พักของตน

ด้วยเหตุแห่งการฝักใฝ่ในการศึกษา จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทาเป็นพิเศษนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔

ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

ปฏิสัมภิทา ๔
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

วิชชา ๓
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ รู้จักระลึกชาติได้
๒. จุตูปปาตญาณ รู้จักกำหนดจุติและเกิด
๓. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น

วิโมกข์ ๓
๑. สุญญตวิโมกข์ ความพ้นโดยเป็นสภาพว่าง คือว่าจาก ราคะ โทสะ โมหะ
๒. อนิมิตรวิโมกข์ ความพ้นโดยหาเครื่องหมายมิได้เพราะ ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องหมาย
๓. อัปปณิหิตวิโมกข์ ความพ้นโดยหาที่ตั้งมิได้ คือไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้ง


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- ประวัติพระมหาโกฏฐิตเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวก (พระมหาสาวก ๘๐)


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก