องค์ประกอบข้อ ๓ "เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ "
คำว่า "เนื้อนาบุญ" ในที่นี้
ได้แก่ บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด
แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อ ๑ และ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว
กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์
เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ
แต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์
เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล
เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ
แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม (วัตถุทานบริสุทธิ์)
และผู้หว่านคือกสิกรก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป็นอาชีพ
(เจตนาบริสุทธิ์) แต่หากที่นานั้น เป็นที่ ๆ ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไป
ก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมดี
ก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง
มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำ ก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป
หรือไม่งอกเงยเสียเลย การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ "บุญ"
หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทาน
คือบุญ ก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไป
ด้วยประการต่าง ๆ ฉะนั้น ในการทำงาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทาน
จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อย
ก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้น หากเป็นผู้ที่มีศีลมีธรรมสูง
ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก
หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น
คือได้บุญน้อย
ฉะนั้นคติโบราณที่กล่าวว่า
"ทำบุญอย่าถามพระ หรือตักบาตรอย่าเลือกพระ" เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้
เพราะในสมัยนี้ ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อน ๆ ที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร
โดยมุ่งจะทำมรรคผล และนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ
แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ ๔ ประการ คือ "บวชเป็นประเพณี
บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน" ธรรมวินัยใด ๆ
ท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระ
และเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ
แม้แต่เพียงแค่ศีล ๕ ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่
การบวชที่แท้จริงแล้วก็เพื่อจะละความโลภ โกรธ และหลง
ปัญหาว่าทำอย่างไร จึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญ ที่ประเสริฐ
ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสม
อบรมสร้างบารมีมาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนา
น้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใดก็มักโชคดี
ได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง หากบุญวาสนาของเราน้อย
และไม่มั่นคง ก็จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ได้พบกับอลัชชีบ้าง
คือดีและชั่วคละกันไป เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งสลากกินรวบ
หากมีวาสนาบารมีเพราะได้เคยทำบุญ เพราะได้เคยทำบุญให้ทาน
ฝากกับสวรรค์ไว้ในชาติก่อนๆก็ย่อมมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้
หากไม่มีวาสนา เพราะไม่เคยทำบุญทำทานฝากสวรรค์เอาไว้เลย
ก็ไม่มีสมบัติสวรรค์อะไรที่จะให้เบิกได้ อยู่ ๆ ก็จะมาขอเบิกเช่นนี้ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี
จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์
แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้
เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล
ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า
ให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๘
แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้ที่มีศีล ๑๐ คือ
สามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์
ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ
พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน
จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น "พระ" แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น
เรียกกันว่า "สมมุติสงฆ์" พระที่แท้จริงนั้น หมายถึง บุคคลที่บรรลุคุณธรรม ตั้งแต่พระโสดาปัตติผล
เป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม
นับว่าเป็น "พระ" ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น
จากน้อยไปหามากดังนี้คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี
พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน
แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรค
และพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล
แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น)
๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี
แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี
แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์
แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทาน
ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน
แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓. การถวายสังฆทาน
ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง
ก็ยังได้บุญน้อยกว่า การถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ
ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทาง อันเป็นสาธารณประโยชน์
ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์
หรือสิ่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา
เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง
สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
๑๔. การถวายวิหารทาน
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน
แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์
การสอนธรรมะแก่ผู้อื่น ที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่ง ๆ ขึ้น
ให้ได้ เข้าใจในมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิ ได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ
ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ
๑๕. การให้ธรรมทาน
แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน"
แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทาน ก็คือการไม่ผูกโกรธ
ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรง
และสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ "โทสกิเลส"
และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นพรหมวิหาร
ข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น
เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา
ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรม
ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท" ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้
การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น
จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง
อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน
แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล
ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการบำพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน
|