โดย
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก



       องค์ประกอบข้อ ๒. "เจตนาในการให้ทานต้องบริสุทธิ์"

          การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่น ความหวงแหน หลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ "โลภ กิเลส" และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่น ให้ได้รับความสุข ด้วยเมตตาธรรมของตน อันเป็นบันได้ก้าวแรกในการเจริญเมตตาพรหมวิหารธรรม ในพรหมวิหาร 4 ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน 3 ระยะ คือ

        (๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะให้ทานก็มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
        (๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังลงมือทำทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตโสมนัสร่าเริงยินดี และเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
        (๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดี ในทานนั้นๆ

        เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องมาจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุข เพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่งๆบริสุทธิ์มากขึ้นไปอีกหากผู้ให้ทานนั้น ได้ทำทานด้วยวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทาน ที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งปวง ที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกัน ด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นเพียงแต่วัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นมาหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของของผู้อื่นมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านแต่ก่อนนั้น ต่างก็ได้ล้มหายตายจากไปทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ ติดตัวไปได้เลย จนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ได้ยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่นๆ ต่อๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถ จะนำติดตัวเอาไปได้ จึงนับว่าเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลง นับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่า นั่นเป็นของเราได้ถาวรตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ตั้งอยู่ในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเอง ก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็เฒ่าแก่และตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง

        เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อม ทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมาก หากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของที่บริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่งๆขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ ย่อมใช้ได้ แต่ก็มีข้ออันควรระวังอยู่ ก็คือ การทำทานนั้นอย่าได้เบียดเบียนตนเอง เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มากๆจนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้ว ตนเองและสามีภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง ที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์คือ

        ตัวอย่างที่ ๑
        ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่าทำทานด้วยความโลภ ไม่ได้ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ

        ตัวอย่างที่ ๒
        ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นมีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้าง แต่ทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทาน ด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งนึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมากๆจนเกิดโทสจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ที่จะได้ก็คือบาป

        ตัวอย่างที่ ๓
        ทำทานด้วยความโลภ คือ ทำทานเพราะอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น เป็นนี่ อันเป็นการทำทาน เพราะหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่นทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอใหทำมาค้าขึ้น ขอให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งสลากกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนมาให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากขึ้นและหนาขึ้น ก็คือ "ความโลภ"

        ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการ นั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญ และผลิตดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้บังเกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมาก ก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิด ในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้นและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ แต่จะมั่งคั่ง ร่ำรวยในวัยใดย่อมสุดแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อน ๆื จะส่งผล คือ

        ๑. ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดี ตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทานก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริง เบิกบาน ยินดีในทานที่ตนจะได้ทำ เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก แต่ถ้าเจตนานั้น ไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันครบ 3 ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น โดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทาน เกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดาย หรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉย ๆ แต่ก็ยังฝืนใจทำทานไป เพราะเสียไม่ได้ หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลในระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติหายนะไปด้วยประการต่าง ๆ แม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานนั้น เศร้าหมองในระยะที่ ๓ คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมา ทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนถึงบั้นปลายชีวิตด้วย คือ ทรัพย์สินคงวิบัติเสียหาย ต่อเนื่องจากวัยกลางคน ตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัย ชีวิตจริงของผู้ที่เกิด บนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้น แต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคน และจนปัจฉิมวัย

        ๒. ร่ำรวยในวัยกลางคน การที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำ เพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๒ กล่าวคือ ไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทานก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดจะทำทานมาก่อน แต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุบางอย่าง เช่นทำตามพวกพ้องอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ย่อมทำให้บังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้งเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการ หรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรือง และหากเจตนาในการทำทาน ได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ 3 ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้น ย่อมส่งผลรุ่งเรือง ตลอดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็ล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้ เพราะผลทานหมดกำลังส่งผล ไม่ตลอดจนถึงบั้นปลายชีวิต

        ๓. ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำ มีเจตนางามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรก และระยะที่ ๒ แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ ๓ กล่าวคือก่อนและในขณะที่ลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้น แต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่น ทำตาม ๆ พวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้ว ต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริงยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้ จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนและขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้น จนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการงานนั้นเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริงๆของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก

 

วิธีสร้างบุญบารมี โดย สมเด็จพระสังฆราช
กลับขึ้นบนสุด
การทำทาน - องค์ประกอบข้อที่ ๓