วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา)
เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว
เช่น อยู่ในระดับฌานต่างๆ ซึ่งจะเป็นฌานในระดับใดก็ได้ แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ
จิตของผู้บำเพ็ญเพียร ก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้
อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธินั้น
มุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่อารมณ์เดียว
โดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไร ๆ แต่วิปัสสนาไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่
ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดและใคร่ครวญหาเหตุและ
ผลในสภาวธรรมทั้งหลาย
และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น
มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ "ขันธ์ ๕" ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "รูป-นาม" โดยรูปมี ๑ ส่วน
นามนั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรม
ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าสภาวธรรม
จึงทำให้เกิดความยึดมั่นด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน
การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลาย
อันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้น ล้วนแต่มีอาการเป็นพระไตรลักษณ์ คือ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย...
(๑) อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง
คือ สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา
ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะให้ตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้
เช่น คนและสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว
และเฒ่าแก่ จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหมและเทวดา ฯลฯ
สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง
ที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆ
มาประชุมรวมกันเป็นหน่วยเล็กๆ ของชีวิตขึ้นก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็น
เรียกกันว่า "เซลล์" แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้น ก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่าง
ของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโตและแตกสลายไป
แล้วเกิดของใหม่ขึ้นแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
(๒) ทุกขัง ได้แก่ "สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้"
ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น
แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่งทั้งหลาย
อันเป็นสังขารธรรมเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทนตั้งมั่นอยู่ในสภาพนั้นๆ ได้ตลอดไป
ไม่อาจจะทรงตัว และต้องเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็กจะให้ทรงสภาพเป็นเด็กๆเช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่
จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มและสาว แล้วก็เฒ่าแก่ จนในที่สุดก็ต้องตายไป
แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรมอันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่นขันธ์ที่เรียกว่าเวทนา อันได้แก่ความทุกข์กาย
ทุกข์ใจ และความไม่สุข ไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีเกิดเป็นอารมณ์ดังกล่าวอย่างใดขึ้นแล้ว
จะให้คงทรงอารมณ์เช่นนั้นให้ตลอดไปย่อมไม่ได้ นานไปอารมณ์เช่นนั้น
หรือเวทนาเช่นนั้นก็ค่อยๆจางไป แล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน
(๓) อนัตตา ได้แก่ "ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ"
โดยสรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น "รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ"
ล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่างๆ มาประชุมรวมกัน
เป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่อยชีวิตเล็กๆขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า "เซลล์" แล้วเซลล์เหล่านั้น
ก็ประชุมรวมกันเป็นรูปใหญ่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบๆ
ว่าเป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ
เรียกว่า ธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ
น้ำมูก ฯลฯ รวมเรียกว่า ธาตุน้ำ ส่วนสิ่งที่ให้พลังงานและอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน
ความเย็น เรียกว่า ธาตุไฟ ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง
ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมาในร่างกาย เรียกว่า ธาตุลม (โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้
มิได้มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า "ธาตุ" อันหมายถึง แร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์) ธาตุ ๔
หยาบ ๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกัน เป็นรูปกายของคน สัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้น
เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลงแล้วแตกสลายกลับคืนไปสู่สภาพเดิม
โดยส่วนที่เป็นดินก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟก็กลับไปสู่ไฟ
ส่วนที่เป็นลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด
จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นรูปกายนี้ว่า เป็นตัวเราของเราให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้.
สมาธิย่อมมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์
ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนึ่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้
ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียว คือมี ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้นๆว่า
มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ขันธ์ ๕ นั้นได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม หรือสังขารธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง
เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด
อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญหาเหตุและผลในสังขารธรรมทั้งหลาย
จนรู้แจ้งเห็นจริงว่าเป็นพระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
และเมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา จริง
เรียกว่าจิตตกกระแสธรรมตัดกิเลสได้ ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว
ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่นึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษหรือตาใน
ที่พระท่านเรียกว่า "ญาณทัสสนะ" เห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิ
มาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้
เรียกกันว่า "สมาธิอบรมปัญญา" คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ
สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่งๆขึ้นไปอีก เรียกว่า "ปัญญาอบรมสมาธิ"
ฉะนั้น ทั้งสมาธิและวิปัสสนา
จึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น
โดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิ
เป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้น
เหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลาย
ให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใด
ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตาม
เหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว
จิตก็จะละคลายจากอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ
สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลงก็เบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณ
จนหมดสิ้นจากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผล
|