หน้าหลัก พระสงฆ์ ตำแหน่งเอตทัคคะ พระนันทาเถรี
Search:

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ...
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ
..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก

หนังสือ พระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์
รองศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม

หน้าแรก : หมวดพระสงฆ์
๕. พระนันทาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้แพ่งด้วยฌาน

พระนันทาเถรี เป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็น กนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ พระนามเดิมว่า “นันทา” แต่เพราะนางมีพระสิริโฉมงดงามยิ่ง นัก น่าทัศนา น่ารัก น่าเลื่อมใส พระประยูรญาติจึงพากันเรียกว่า “รูปนันทา” บ้าง “อภิรูปนันทา” บ้าง “ชนปทกัลยาณี” บ้าง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นับเนื่องเป็นพระเชษฐาของนาง เสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้เป็น พระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว เสด็จมาโปรดพระประยุรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เทศนาสั่งสอน ให้ได้บรรลุมรรคผลตามวาสนาบารมี ทรงนำพาศากยกุมารทั้งหลายมีพระนันทะ พระราหุล และพระภัททิยะ เป็นต้น ออกบรรพชา

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชพุทธบิดา เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้ว พระ นางมหาปชาบดีโคตรมี พระมารดา และพระนางยโสธราพิมพาพระมารดาของพระราหุล ต่างก็ พาสากิยกุมารีออกบวช ในพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น นางจึงมีพระดำรัสว่า “เหลือแต่เรา เพียงผู้เดียว ประหนึ่งไร้ญาติขาดมิตร จะมีประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิต ในฆราวาสวิสัย สม ควรที่เราจะไปบวช ตามพระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเราจะประเสริฐกว่า”

เพราะรักญาติจึงออกบวช
เมื่อพระนางมีพระดำริดังนี้แล้ว จึงจัดเตรียมผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จไปสู่สำนัก พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี กราบแทบเท้า กล่าวขอบรรพชาอุปสมบท พระเถรี ก็โปรดให้บรรพชา ตามปรารถนา แต่การบวชของพระนางนันทานั้น มิใช่บวชด้วยความศรัทธา แต่อาศัยความรักใน หมู่ญาติจึงออกบวช

ครั้นบวชแล้ว พระรูปนันทาเถรีได้กราบว่า พระพุทธองค์ทรงตำหนิติเตียนเรื่องรูปกาย จึงไม่กล้าไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อรับพระโอวาท เมื่อถึงวาระที่ตนจะต้องไปรับโอวาท ก็สั่งให้ ภิกษุณีรูปอื่นไปรับแทน พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระนางหลงมัวเมาในพระสิริโฉมของตน เอง จึงตรัสรับสั่งว่า:- “ต่อแต่นี้ ภิกษุณีทั้งหลาย ต้องมารับโอวาทด้วยตนเอง จะส่งภิกษุณีรูปอื่นมารับแทนไม่ได้”

ตั้งแต่นั้น พระรูปนันทาเถรี ไม่มีทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ จึงจำเป็นและจำใจไปรับ ประโอวาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรารถนา ไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย แต่มิกล้าแม้ กระทั่งจะนั่งอยู่แถวหน้า จึงนั่งหลบอยู่ด้านหลัง

พระพุทธองค์ ทรงเนรมิตรูปหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่ง ให้มีรูปสิริโฉมสวยงาม สุดที่จะหา หญิงใดในปฐพีมาเปรียบได้ ให้หญิงนั้น ดูประหนึ่งว่าถือพัดวีชนีถวายงานพัด อยู่เบื้องหลังของ พระพุทธองค์ และให้สามารถมองเห็น เฉพาะพระพุทธองค์กับพระรูปนันทาเถรีเท่านั้น

พระรูปนันทาเถรี ได้เห็นหญิงรูปเนรมิตนั้นแล้ว ก็คิดว่า เราหลงผิดคิดมัวเมาอยู่ในรูป โฉมของตนเองโดยใช่เหตุ จึงมิกล้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ หญิงคนนี้มีความสนิมสนม อยู่ในสำนัก พระบรมศาสดา รูปโฉมของเรานั้นเทียบไม่ได้ส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของหญิงนี้เลย ดูนางช่างงามยิ่ง นัก ผมก็สวย หน้าผากก็สวย หน้าตาก็สวย ทุกสิ่งทุกอย่างช่างสวยงามพร้อมทั้งหมด

พอเบื่อหน่ายก็ได้สำเร็จ
เมื่อพระรูปนันทาเถรี กำลังเพลิดเพลิน ชื่นชมโฉมของรูปหญิงเนรมิตอยู่นั้น พระพุทธองค์ ทรงอธิษฐานให้รูปหญิงนั้นปรากฏอยู่ในวัยต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงวัยรุ่น เป็นหญิงสาววัยมีลูกหนึ่งคน มีลูก ๒ คน จนถึงวัยกลางคน วัยชรา และวัยแก่หง่อม ผมหงอก ฟันหัก หลังค่อม และล้มตายลงในขณะนั้น ร่างกายมีหมู่หนอนมาชอนไช เจาะกินเหลือแต่โครงกระดูก พระพุทธองค์ทรงทราบว่า พระรูปนันทาเถรี เกิดความสังเวชสลดจิต เบื่อหน่ายในรูปกายที่ตนยึดถือแล้วจึงตรัสว่า:-

“ดูก่อนนันทา เธอจงดูอัตภาพร่างกาย อันเป็นเมืองแห่งกระดูกนี้ (อฏฺฐีนํนครํ) อัน กระสับกระส่าย ไม่สะอาด อันบูดเน่านี้เถิด เธอจงอบรมจิตให้แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เดียวใน อสุภกรรมฐาน จงถอนมานะละทิฏฐิให้ได้ แล้วจิตใจของเธอก็จะสงบ จงดูว่ารูปนี้ เป็นฉันใด รูป ของเธอก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปอันมีกลิ่นเหม็นบูดเน่านี้ ย่อม เป็นที่เพลิดเพลินอย่างยิ่ง ของผู้โง่เขลาทั้งหลาย”

พระรูปนันทาเถรี ส่งกระแสจิตไปตามพระพุทธดำรัส เมื่อจบลงก็สิ้นกิเลสาสวะ บรรลุ พระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

ปรากฏว่า เมื่อพระนางสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้มีความชำนาญพิเศษ ในการเพ่งด้วยฌาน ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้แพ่งด้วยฌาน หรือ ผู้ทรงฌาน

ฌาน การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ มี ๔ คือ
๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔. จตุถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :
- +++ 


ย้อนกลับ ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
และ http://www.84000.org

ฟังธรรมะบรรยาย
(มากกว่า ๔,๐๐๐ ไฟล์)

อ่านพระไตรปิฎก
(คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา)
อ่านหนังสือธรรมะออนไลน์
(โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง)
วิธีปฏิบัติธรรม
(ธรรมะภาคปฏิบัติ)
 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
     จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

หลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสรุป
     พุทธศาสนาคือวิชาและระเบียบปฏิบัติ เพื่อให้รู้สิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวง มีสภาพตามที่เป็นจริง คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวหรือของตัว ; แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง เพราะอำนาจของการยึดมั่นที่ผิด ในพุทธศาสนามีวิธี ปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ตัดการติดการยึดมั่นนั้นเสีย อุปาทาน การยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึด คือ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
      เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้า ตามที่เป็นจริง ก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวงจนถึงกับเบื่อหน่ายคลายความอยาก ไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า "เป็นอยู่ชอบ" คือให้ วันคืนเต็มไปด้วยความปีติ ปราโมทย์ อันเกิดมาจากการกระทำที่ดีที่งามที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำ แล้วระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย ความคลายออก ความหลุดพ้น และนิพพานได้ตามความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อม
      ถ้าเราจะรีบเร่งทำให้ได้ผลเร็วขึ้น ก็มีแนวปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนาธุระ เริ่มตั้งแต่มี ความประพฤติบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ มีความเห็นบริสุทธิ์ เรื่อยขึ้นไปจนถึงมีปัญญา คือความเห็นแจ้งบริสุทธิ์ ในที่สุดก็จะตัดกิเลสที่ผูกมัดคนให้ติดอยู่กับวิสัยโลกออกเสียได้ เรียกว่า การบรรลุมรรคผล
ท่านพุทธทาสภิกขุ : คู่มือมนุษย์



สงวนลิขสิทธิ์โดย ธรรมะพีเดีย.คอม
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์
อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา

www.thammapedia.com
( ศูนย์เผยแผ่พระพุทธธรรม )
Copyright © 2008 ALL RIGHTS RESERVED
 
 
หน้าหลัก